นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เผยตลาดข้าวปั่นป่วนหลัง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รมว.พาณิชย์ ออกมาระบุอีก 3 เดือนราคาจะทะลุตันละ 3 หมื่นบาท ส่งผลให้ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก เก็บข้าวแช่ไว้ในสต๊อกของตัวเองไม่ยอมขายออก โดยเร็วๆ นี้เตรียมขอเข้าพบเพื่อเสนอให้รัฐบาลกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าว
"ตอนนี้ตลาดข้าวปั่นป่วนไปหมด พ่อค้าคนกลางไม่ยอมขายข้าวออกมาเพราะหวังกำไรจากส่วนต่างราคาข้าว ซึ่งจริงๆ แล้วราคาข้าวก็มีแนวโน้มปรับขึ้นอยู่แล้ว โดยข้าวในตลาดซื้อกระสอบละ 1,900-2,000 บาทตามภาวะต้องการตลาดโลก ยิ่งมาเจอการส่งสัญญาณของรัฐมนตรีพาณิชย์ว่าข้าวจะขึ้นกระสอบละ 3,000 บาท ทำให้เกิดการเก็งกำไรเข้าไปใหญ่ ซึ่งประโยชน์ไม่ได้ตกกับเกษตรกร เพราะไม่มีที่เก็บข้าวไว้รอขาย แต่จะตกกับผู้มีพื้นที่หรือสต๊อกเก็บข้าวไว้มากสุดมากกว่า" นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าว
ผู้ส่งออกข้าวไทยก็ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับขึ้น โดยผู้ส่งออกกว่าครึ่งชะลอรับออร์เดอร์ส่งออกข้าว โดยจะรับออร์เดอร์ในปริมาณข้าวเพิ่มเล็กน้อยเท่านั้น โดยขณะนี้รับออร์เดอร์เหลือเพียง 2,000 ตัน จากออร์เดอร์ของผู้นำเข้า 10,000 ตัน เพื่อป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากเกรงว่าจะหาข้าวในราคาที่รับออร์เดอร์ไว้ไม่ได้ เพราะราคาปรับสูงขึ้นทุกวัน โดยขณะนี้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิ สูงขึ้นเป็นตันละ 980 เหรียญสหรัฐ และข้าวขาว 700 เหรียญสหรัฐแล้ว
"ไม่ต้องรอถึง 3 เดือน ราคาข้าวก็จะทะลุ 1 พันเหรียญสหรัฐฯอยู่แล้ว แต่ภาครัฐก็ยังมัวหลงกับราคาข้าวที่ขึ้นสูงอย่างนี้อยู่ได้ โดยไม่ดูว่าระบบข้าวจะได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งถ้า sector ใด sector หนึ่งพัง ระบบธุรกิจข้าวจะอยู่ได้อย่างไร ขณะที่ทั่วโลกเขาก็มีมาตรการที่จะส่งสัญญาณชะลอส่งออกข้าวกันหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินเดีย" นายชูเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ สมาคมจะทำหนังสือขอเข้าพบ รมว.พาณิชย์ เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องนโยบายการผลักดันส่งออกข้าว โดยจะเสนอให้พิจารณามาตรการกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าวเหมือนอย่างที่ประเทศอินเดียดำเนินการ โดยล่าสุด เพิ่มประกาศเพดานส่งออกข้าวขั้นต่ำที่ตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป ซึ่งเป็นการเพิ่มเพดานราคาส่งออกอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 1-2 เดือนก่อน ประกาศเพดานส่งออกข้าวขั้นต่ำไว้ที่ 700 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ เพื่อลดความร้อนแรงของปริมาณส่งออกข้าวไทยลง โดยมาตรการดังกล่าวไม่ผิดระเบียบขององค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ) เพราะไม่ได้กีดกันการส่งออกหรือนำเข้า แต่หากใครอยากได้ข้าวก็ต้องจ่ายแพง ซึ่งเชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้สถานการณ์ข้าวภายในประเทศดีขึ้นจากปัจจุบันที่ราคาผันผวนจนเกินไป แม้ภาครัฐเตรียมทำข้าวถุงราคาถูกเพื่อช่วยผู้บริโภค แต่สต๊อกข้าวที่มี 2.1 ล้านตันคงไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ เพราะปริมาณข้าวเพียงแค่นี้ใช้ 3 เดือนก็หมดแล้ว
"ไม่อยากให้รัฐมองว่าจะต้องส่งออกให้มาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว หากไม่มีสต๊อกข้าวเหลือในประเทศแล้วจะทำอย่างไร ถึงเวลานั้นรัฐบาลจะลำบาก เพราะสถานการณ์นี้ต่อให้มีข้าวจำนวนมากเท่าไหร่ก็ส่งออกได้หมด มี 12 ล้านตันต่างประเทศก็ต้องการหมด แต่ต้องคิดถึงอนาคตข้างหน้าด้วย" นายชูเกียรติ กล่าว
นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ยอมรับว่า ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาผันผวน โดยตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ ผู้ส่งออกขาดทุนจากราคาผันผวนไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--