รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 เม.ย.นี้ พิจารณามาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ทั้งโครงการพักหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อย โครงการสินเชื่อเพื่อเกษตรกร และโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย
ภายใต้มาตรการดังกล่าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เสนอของบประมาณ 4,074 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจนที่คาดว่าจะมีจำนวน 336,633 ราย ยอดหนี้คงค้างล่าสุด ณ วันที่ 31 ม.ค.51 จำนวน 17,990 ล้านบาท
ทั้งนี้ กำหนดให้เกษตรกรไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.51-31 มี.ค.53 แยกเป็นเงินชดเชยสำหรับดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้ปีละ 1,350 ล้านบาท รวม 2 ปี ไม่เกิน 2,700 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพให้กับเกษตร 2 ปี รวม 1,374 ล้านบาท โดยโครงการนี้ถือเป็นการพักหนี้เกษตรกรรอบที่ 2 แต่ยังไม่มีมาตรการลดภาระหนี้ให้กับเกษตรกร เพราะรัฐบาลต้องการช่วยเกษตรกรที่มีปัญหาจริง ๆ
ธ.ก.ส.จะจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพของครัวเรือนเกษตรกร พัฒนาความรู้ ศักยภาพในการประกอบอาชีพภายใต้กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาของโครงการ โดยจะคัดเลือกและประเมินศักยภาพลูกค้าที่ต้องได้รับการพักหนี้อย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือกับผู้ที่จำเป็นได้รับการฟื้นฟูที่แท้จริง
กระทรวงการคลังเสนอให้ธ.ก.ส.ต้องแต่งตั้งผู้กำกับดูแลโครงการเพื่อจัดทำแผนงานและระบบการรายงานที่แยกรายชื่อ ประเภทลูกค้า พื้นที่และผลการพักหนี้ที่ชัดเจน เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพื่อประเมินผลและพิจารณาแนวทางการให้เงินชดเชยดอกเบี้ยแก่ธ.ก.สและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการเป็นแบบระบบออนไลน์ที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันธ.ก.ส.ต้องศึกษาโครงสร้างการให้สินเชื่อ การคิดอัตราดอกบี้ยและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของเกษตรกรลูกค้า ต่อไปด้วย
สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส.ที่มีเป้าหมายจะอนุมัติสินเชื่อในปีบัญชี 2551 อีก 325,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนปลูกพืชพลังงานทดแทน,การปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซล,โครงการปลูกมันสำปะหลัง,โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชน เป็นต้น
รายงานข่าว ระบุว่า มาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ยังมีมาตรการขยายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้กับหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่และพร้อมดำเนินการอีก 1,600 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินกู้ในปี 52 อีก 1,600 ล้านบาท ขณะที่วงเงินกู้สำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ยังมีคงเหลือที่ธนาคารออมสินและธ.ก.ส.อีก 7,769.61 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,700 ล้านบาท
นอกจากนั้น ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินที่จะให้สินเชื่อเพิ่ม 4,000 ล้านบาท และพร้อมให้สินเชื่อต่อยอดอีก 16,000 ล้านบาท ให้กับหมู่บ้านและชุมชน ส่วนโครงการเอสเอ็มแอลนั้นจะเสนอแนวทางกำกับตรวจสอบโครงการแบ่งเป็น 7 ประเภท เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส และชัดเจน และกำหนดให้หมู่บ้านต้องเปิดบัญชีกับธนาคารออมสิน ธ.ก.ส.หรือธนาคารกรุงไทย พร้อมต้องมีบันทึกการเบิกจ่ายและติดตามผลในระบบการคลังอิเล็กทรอนิคส์
ด้านโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะมีทั้งโครงการบ้านธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท และโครงการอื่นของ ธอส. เช่น ธอส.-กบข. ครั้งที่ 5 วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการธอส.-สปส. เพื่อผู้ประกันตน 10,000 ล้านบาท และโครงการบ้านมั่นคง ที่ขยายวงเงินเป็น 400 ล้านบาท เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--