นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 11 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีนายวลาดิมีร์ อิลิโชฟ รมช.พัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นประธานร่วม
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เกี่ยวกับความพยายามที่จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และได้รับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-รัสเซีย ซึ่งให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการค้าและการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานที่ยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และห่วงโซ่มูลค่าที่ยืดหยุ่น
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงการดำเนินการจัดการประชุมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และยังได้หารือแนวทางการผลักดันให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเร็วที่สุด โดยเน้นสาขาที่สองฝ่ายสนใจ อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร พลังงาน ปุ๋ย และยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้ อาเซียนได้หารือกับผู้แทนสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยรับทราบความคืบหน้าแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ระหว่างปี 2563-2568 ซึ่งกิจกรรมภายใต้แผนงานดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของทั้งสองภูมิภาค และช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในระยะยาว
ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 18 ที่ประชุมได้รับทราบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2565-2566 ซึ่งรวมถึงการจัดทำกรอบกำหนดขอบเขต FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะทำงานร่วมหารือกำหนดแนวทางดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะกลาง โดยคำนึงถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างของสองภูมิภาคผ่านการมีส่วนร่วมในสาขาใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี และบริการสีเขียว รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และสามารถนำไปสู่การจัดทำ FTA ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ อาเซียนได้ขอบคุณสหภาพยุโรปที่ช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคผ่านโครงการ ARISE Plus และ E-READI รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) เกี่ยวกับข้อเสนอแนะและแนวทางการปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สภาพแวดล้อม กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน และการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน