นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีภารกิจในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่หวือหวา ทำหน้าที่เสมือนหางเสือเรือ โดยปัจจัยที่ต้องดูแล ได้แก่ 1.การส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างราบรื่น (Smooth take off) ซึ่งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับคืนสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยมาตรการที่ใช้จะคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจเฉพาะตัว ให้มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดความสมดุลและยั่งยืน
2.การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 จากระดับ 50% เป็น 88% ของจีดีพี ให้ลดลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 80% ของจีดีพี ซึ่งต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการ แก้ไขให้ตรงจุด ไม่ใช้การเหวี่ยงแห
3.คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม (Green) ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศในยุโรปกำลังหยิบยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า
4.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการจัดวางระบบเศรษฐกิจ (Ecosystem) เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก เช่น ระบบพร้อมเพย์ ระบบคิวอาร์โค้ด ที่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
5.การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร (HROD)
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับสู่ปกติภายในปีหน้าจากการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 21 ล้านคน โดยเป็นการฟื้นตัวแบบ K Shape แต่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน และอาหารสด โดยเฉพาะราคาอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ปรับขึ้นไปแล้วลดลงมายาก อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินเฟ้อ จะอยู่ระดับสูงสุดในไตรมาส 3/65 และกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายภายในปี 66
แนวคิดเรื่องนโยบายดอกเบี้ยนั้นต้องคำนึงว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไม่สร้างภาระ เพราะจะต้องดูแลผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง โดยให้เกิดความสมดุล คงไม่สามารถไปปรับตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้เพราะมีบริบททางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากๆ ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องค่าเงินบาทให้อ่อนค่าน้อยลง