"การอ่อนค่าของเราไม่ได้เพี้ยนไปจากภูมิภาค อยู่ในระดับกลางๆ ของกลุ่ม...มีคำถามว่า บาทอ่อน เป็นเพราะเงินทุนไหลออกจากส่วนต่างดอกเบี้ยจริงเปล่า คำตอบคือ ไม่ ในภาพรวมเราไม่ได้เห็นเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ...ธปท.จะไม่ฝืนทิศทางตลาด เพราะรู้ว่าทำไม่ได้ เราเคยมีบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 มาแล้ว" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
พร้อมย้ำว่า การที่ได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 38 บาท/ดอลลาร์ ไม่ได้หมายความว่าประเทศขาดเสถียรภาพ เพราะเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เงินทุนสำรองฯ อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดยเงินทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 3.2 เท่า ตลอดจนฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ก็มีความแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน ขณะที่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จะสามารถกลับมาเกินดุลได้ในปี 66
ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และทั่วถึงมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และตลาดการเงินจะมีความผันผวนสูงก็ตาม โดยคาดการณ์ GDP ไทยปี 65 โต 3.3% ก่อนขยายตัวเป็น 3.8% ในปี 66 จากแรงส่งหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปี 66
"ตอนนี้ เริ่มเห็นการบริโภคในประเทศฟื้นตัวจากรายได้ ทั้งในและนอกภาคเกษตร แต่อีกตัวที่จะมาช่วยเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือเรื่องท่องเที่ยว เพราะถ้าท่องเที่ยวไม่ฟื้น เศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นต่อได้ยาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็น 12% ของจีดีพี ส่งผลให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อม หรือ 1 ใน 5 ของการจ้างงานโดยรวม" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
พร้อมเชื่อว่า จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดได้ราวปลายปีนี้ ถึงต้นปี 66
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ประมาณ 7% ซึ่งถือว่าสูงหลุดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ระดับ 1-3% ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงมาจากด้านอุปทานเป็นสำคัญ และคาดว่าจะเริ่มทยอยคลี่คลายลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงกลางปี 66 ซึ่งทั้งปี 66 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% จากในปีนี้เฉลี่ยที่ 6.3%
ทั้งนี้ ต้องจับตาเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นตัวที่สะท้อนว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อของประเทศติดมากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานในระยะหลัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงแล้ว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินของไทยว่า โจทย์สำคัญที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือต้องทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะของ Smooth takeoff การฟื้นตัวไม่สะดุด โดยมองว่าบริบทด้านเศรษฐกิจของไทย แตกต่างจากในต่างประเทศทั้งฝั่งอเมริกา และยุโรป ที่พยายามจะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจเป็นลักษณะ Smooth Landing ดังนั้นเมื่อบริบทของเศรษฐกิจแตกต่างกัน การดำเนินนโยบายการเงินของไทยจึงต่างกัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงมีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรง
"ยอมรับว่าที่ผ่านมา ดอกเบี้ยของเราต่ำอย่างผิดปกติมายาวนาน ดังนั้นต้องปรับให้กลับเข้าสู่ภาวะที่ปกติ เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูง...แต่เราก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงแบบที่ทางสหรัฐอเมริกา หรือทางยุโรปทำกัน เพราะบริบทของเราไม่เหมือนกับเขา" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 แนวทาง คือ 1. การดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน เพื่อให้ทยอยปรับลดลง จากปัจจุบันที่หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 2/65 อยู่ที่ระดับ 88% ของจีดีพี ซึ่งจะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทำให้ถูกหลักการ โดยจะไม่ใช้มาตรการช่วยเหลือแบบปูพรม ไม่ออกมาตรการที่สร้างภาระเพิ่มให้แก่ลูกหนี้ ขณะเดียวกันจะต้องไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ
2. ดูแลความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ให้ภาคการเงินช่วย Facilitate ให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ 3. จัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ โดยเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Digital payments เช่น cross border payment, PromptBiz และ dStatement