กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศปรับโครงสร้างระบบควบคุมภาคการเงินครั้งใหญ่สุดในรอบ 80 ปี โดยเปิดทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีอำนาจตรวจบัญชีสถาบันการเงินที่ส่อเค้าว่ามีความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาต่อระบบ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นมาตรการที่เน้นการแก้ปัญหามากกว่าการป้องกัน
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ ประกาศมาตรการยกเครื่องการควบคุมระบบการเงินในประเทศอย่างครอบคลุมครั้งแรกนับแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของการยกเครื่องระบบครั้งนี้คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุนและสถาบันการเงินในตลาดวอลล์สตรีท หลังเกิดวิกฤติสินเชื่อตึงตัวและเกิดปัญหาในตลาดปล่อยกู้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐ
ภายใต้แผนการดังกล่าวซึ่งเสนอโดยพอลสันนั้น เฟดจะมีอำนาจมากขึ้นและสามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ต้องสงสัยว่ามีการดำเนินการที่อาจเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายกับระบบการเงิน นอกจากนี้ เฟดจะกลายเป็น 1 ใน 3 องค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาคการเงินอย่างครอบคลุม
แผนการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการปิดสำนักงานดูแลด้านการออม และโอนอำนาจการดูแลทั้งหมดให้กับสำนักงานควบคุมเงินตรา ซึ่งดูแลภาคธนาคาร รวมถึงให้มีการผนวกหน้าที่ของคณะกรรมการการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเข้ากับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อตั้งเป็นหน่วยงานที่สามารถดูแลทั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าและตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งจะมีการตั้งสำนักงานประกันภัยแห่งชาติภายในกระทรวงการคลัง เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมประกันภัย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า มาตรการดังกล่าวจะถูกต่อต้านจากคณะกรรมการควบคุมกฎระเบียบระดับรัฐ ที่ถูกแย่งอำนาจ อีกทั้งมีคำถามตามมาว่าการดำเนินการดังกล่าว สวนทางกับความพยายามผ่อนปรนกฎระเบียบในภาคการเงินหรือไม่
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--