พาณิชย์ หารือ ส.อ.ท.ต่อยอดความสำเร็จเพิ่มมูลค่า-ขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยในซาอุฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2022 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ หารือ ส.อ.ท.ต่อยอดความสำเร็จเพิ่มมูลค่า-ขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยในซาอุฯ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ เพื่อติดตามผลการเร่งขยายตลาดสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่ได้นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นับเป็นอีกมิติในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยจัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าการส่งออก โดยวันนี้ดำเนินการตามนโยบายเชิงรุกและเชิงลึก ติดตามการเปิดตลาดการค้าและด้านอื่นๆ ระหว่างไทยกับซาอุฯ หลังตนนำคณะกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน และ ส.อ.ท.เยือนซาอุฯ เมื่อวันที่ 27-31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญ 5 เรื่องที่หารือร่วมกัน

ประเด็นแรก ไทยสามารถทำสัญญาซื้อ-ขายสินค้าไทยไปซาอุฯ ได้ทันที 3,500 ล้านบาท

ประเด็นที่ 2 มีผลให้จัดตั้งสภาธุรกิจไทยซาอุฯ ตั้งเป้าหมายภายใน 1 ปี จะทำมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 10,000 ล้านบาท และประเด็นอื่นๆ ที่มีข้อสรุป ได้แก่ 1) กระทรวงพาณิชย์จะจัดคลินิกส่งเสริมการส่งออก หรือ Export Clinic ไปตลาดซาอุฯ เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างสภาอุตสาหกรรม ภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ให้คำปรึกษา กฎระเบียบ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี สินค้าที่ต้องการของซาอุฯ บริการ ระบบการขนส่ง และการจัดตั้งสายด่วน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังซาอุฯ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหาร การก่อสร้าง ปิโตรเคมี และยานยนต์ เป็นต้น 2) จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยในซาอุฯ โดยเบื้องต้น กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนนำสินค้าไทยร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญที่ซาอุฯ โดยคัดไว้เบื้องต้น 5 งานสำคัญ

ประเด็นที่ 3 กระทรวงพาณิชย์ จับมือกับส.อ.ท.และกระทรวงการลงทุนของซาอุฯ จัด Webinar ส่งเสริมการค้าการลงทุนในสาขาสำคัญ เช่น ปิโตรเคมี การก่อสร้าง เหล็ก อะลูมิเนียม อาหาร การเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมการส่งออก

ประเด็นที่ 4 ที่ประชุมติดตามได้ความคืบ เรื่อง FTA ไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเร่งรัดให้มีการเจรจาให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว และติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ซาอุฯ (Joint Trade Committee: JTC) ซึ่ง รมว.ต่างประเทศซาอุฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นต่อไปเป็นการจัดตั้งให้เป็นเวทีเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศต่อไป

ประเด็นที่ 5 ติดตามความคืบการเจรจากับทางการซาอุฯ ในเรื่องต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ 10 ข้อ เช่น ที่ต้องการให้ อย.ซาอุ (SFDA) เดินทางมาตรวจโรงงานผลิตและส่งออกไก่แช่เย็น-แช่แข็ง อนาคตหวังว่าจะสามารถเปิดตลาดไก่ต้มสุกต่อไป ซึ่งไก่ต้มสุกจะมีมูลค่าการตลาดมหาศาล และการที่เอกชนไทยจะเดินทางไปซาอุฯ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาการขอวีซ่า เพราะต้องมีหนังสือเชิญจากซาอุฯ ซึ่งเป็นอุปสรรค โดยวันนี้มีความคืบหน้าแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จากนี้คือการขอวีซ่าของนักธุรกิจไทยไปซาอุฯ ให้ส.อ.ท. สภาหอฯ หรือกลไกภาคเอกชนอื่นที่กฎหมายรับรองจากรัฐบาลไทยออกหนังสือรับรองให้ยื่นขอวีซ่าได้จะสะดวกยิ่งขึ้น

"นอกจากเราขายอาหารที่เป็นที่ต้องการ คืออาหารฮาลาลให้กับซาอุฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้ว ต้นไม้จะเป็นอีกสินค้าทำเงินให้ประเทศ หรือสร้างเงินให้ประเทศต่อไปในอนาคต จะได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปช่วยกันขับเคลื่อน" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์กล่าว

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ในการเดินทางไปซาอุฯ ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสดี เพราะซาอุฯ จะเป็นประตูเข้าสู่ประเทศตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นในอนาคต สินค้าไทยมีโอกาสที่ดี โดยเฉพาะสินค้าในหมวดก่อสร้าง อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ตอบรับดีมาก

"เป็นมิติใหม่ไม่เคยทำงานใกล้ชิดขนาดนี้ ภาครัฐทำงานเชิงรุกท่านรองนายกฯมีความเข้าใจภาคเอกชน ในความต้องการและแก้ปัญหาทุกอย่าง คิดว่าการจับมือร่วมมือกันโดย กรอ.พาณิชย์ ที่ รมว.พาณิชย์ จัดตั้งขึ้นมา ทำให้พวกเราทำงานสะดวก คล่องตัว และจะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

ทั้งนี้ ตลาดซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และกำลังรอการเติบโต โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯ ในเดือน ม.ค.-ส.ค. 65 อยู่ที่ 43,114 ล้านบาท ขยายตัว 15.9% โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปซาอุฯ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องจักรและส่วนประกอบของ เครื่องจักร รวมถึงอาหารสัตว์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ