ดัชนีเชื่อมั่นท่องเที่ยว H2/65 ทยอยฟื้นต่อเนื่อง คงเป้านทท.สิ้นปีแตะ 12 ล้านคน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2022 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3/65 เท่ากับ 65 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก ผลจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และเริ่มมีการใช้ Booster Shot ด้านการตลาด สำหรับไตรมาส 4/65 ผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นอีก โดยมีดัชนีเพิ่มขึ้นเป็น 70 และเชื่อมั่นว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ล้านคน ก่อนขยับสู่ 30-40 ล้านคนปีหน้า

สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลในไตรมาสหน้า คือ สภาวะเงินเฟ้อ และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าแรง รายได้ในภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีรายได้กลับมาประมาณ 40% ของช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สถานประกอบการเปิดบริการ 87% ธุรกิจที่พักแรมส่วนใหญ่ (78%) มีรายได้อยู่ในช่วง 30-50% ของรายได้ก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ 27% ระบุว่าขาดแรงงาน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสทท. กล่าวว่า เรากำลังต่อสู้กับ 4 สงคราม คือ 1. สงครามดิจิทัล ที่ทำให้พฤติกรรมและรูปแบบการจองของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป 2. สงครามโควิด-19 ทำให้การเดินทางลดลง ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการชั่วคราว 3. สงคราม Ukraine-Russia ทำให้น้ำมันแพง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และที่ส่งผลกับการท่องเที่ยวมากที่สุดคือ และ 4. สงครามแย่งชิงนักท่องเที่ยว หรือ Tourism war game

สทท. จึงเสนอยุทธศาสตร์ 4 สมดุลเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนใน 4 มิติ คือ 1. สมดุลเมืองหลัก-เมืองรอง เพื่อแก้ปัญหา Over-Tourism 2. สมดุลเล็ก-ใหญ่ เพื่อพัฒนาคนตัวเล็ก 3. สมดุล natural-manmade เพื่อลดการพึ่งพาธรรมชาติ และ 4. สมดุลแผนระยะสั้น-ระยะยาว เพื่อสร้างการอยู่รอดฝ่าวิกฤตในระยะสั้น และสร้างความยั่งยืนด้าน ถึงสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ด้าน นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน SMART Tourism สทท. กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้จัด Tourism Hackathon โดย สทท. ได้เชิญ 300 ผู้นำการท่องเที่ยวไทย นายกสมาคมจากทุกสาขาอาชีพ ประธาน สทท. ทุกจังหวัด มาระดมสมองแก้ปัญหา-สร้างโอกาส พร้อม Solution เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล 8 เรื่อง คือ Soft-Loan, Hotel Law, Upskill-Reskill, Medical & Wellness hub, Influencer & Softpower, Digital Platform, Metaverse และ Digital Nomad โดยตลาดที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสนใจมากที่สุด คือ ตลาดท่องเที่ยวข้ามแดนลาว-พม่า-มาเลเซีย-กัมพูชา และตลาดอินเดีย

นางสมทรง สัจจาภิมุข รองประธานสทท. กล่าวว่า อินเดียเป็นตลาดสำคัญของไทยในปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วกว่า 6 แสนคน เป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย แต่หากมองเรื่องศักยภาพนั้นตลาดอินเดียมีค่าใช้จ่ายที่สูง และมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประชากรของอินเดียปัจจุบันมีกว่า 1.4 พันล้านคน มีรายได้สูงขึ้นและมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่พร้อมจะเดินทางหาประสบการณ์ใหม่ ในขณะที่เศรษฐีชาวอินเดียก็นิยมมาจัดงานแต่งงานที่ประเทศไทย เนื่องจากคุณภาพ ความพร้อมและราคาที่คุ้มค่าที่สุด

นายเอนก นุรักษ์ รองประธานสทท. กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการตลาดของ Booster Shot ที่ภาครัฐสนับสนุนสิ่งที่ภาคเอกชนได้ร้องขอมาในไตรมาสที่แล้ว นั้นมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัสทัวร์ทั่วไทย ลดทั่วฟ้า-บินทั่วไทย การตอบรับดีมาก และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้จริง ดังนั้น ขอให้เดินหน้าต่อให้แรงขึ้น และยังมีอีก 2 มาตรการที่ขออนุมัติไว้แล้ว คือ การสนับสนุนค่าเครื่องบินจากต่างประเทศแบบที่ฮ่องกงกำลังทำ และการส่งเสริมโรงแรมขนาดเล็ก

ด้าน นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ ประธานอนุกรรมการโรงแรมขนาดเล็ก สทท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กทั่วประเทศมากกว่า 10,000 ราย กำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับรูปแบบทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญกับเรื่องโรงแรมขนาดเล็ก ทั้งด้านกฎหมาย การสนับสนุนทางการตลาด การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และการพัฒนาบุคลากร