บอร์ดบีโอไอเตรียมอนุมัติส่งเสริมลงทุน 8 โครงการใหญ่รวมกว่า 1.07 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2008 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดบีโอไอวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,613.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเลื่อนพิจารณามาจากการประชุมครั้งก่อน
โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย การขยายกิจการขนส่งทางท่อของ บมจ.ปตท.(PTT) มูลค่าเงินลงทุนรวม 80,787 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุน 41,566 ล้านบาท และค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน 39,221 ล้านบาท กิจการดังกล่าวจะให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อปีละประมาณ 620,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยวางท่อก๊าซธรรมชาติขนาด 42 นิ้ว จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านไปยัง จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และไปสิ้นสุดโครงการที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร
กิจการขนส่งทางอากาศของบริษัท วัน ทูโก แอร์ไลน์ส จำกัด ตามโครงการจะให้บริการเครื่องบินโดยสารแบบ MD 80 จำนวน 4 ลำ มีความจุผู้โดยสารรวมจำนวน 628 ที่นั่ง เงินลงทุนรวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 1,643 ล้านบาทให้บริการขนส่งทางอากาศแบบประจำเส้นทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำเส้นทางเป็นครั้งคราว
บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ได้รับอนุมัติให้ขยายกิจการผลิตน้ำมันอากาศยาน(JET FUEL) โดยการติดตั้งหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันอากาศยานหรือ JET MEROX UNIT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของ UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขนาดกำลังผลิตส่วนขยายจำนวน 20,000 บาร์เรล/วัน ใช้เงินลงทุนรวมที่ดินและทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 1,533.7 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
การผลิตขวดแก้วในนามบริษัท ปราจีนบุรีกล๊าส อินดัสทรี จำกัด ผลิตขวดแก้วปีละประมาณ 64,800 ตัน(หรือประมาณ 446,897 ขวด) ใช้เงินลงทุนรวมที่ดินและทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 2,245 ล้านบาท ตั้งโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี โดยเป็นการผลิตขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มชูกำลัง(กระทิงแดง)เพียงอย่างเดียว ขนาด 100 C.C. และขนาด 150 C.C. ร่วมทุนระหว่างบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด ถือหุ้น 51% และ 49% ถือหุ้นโดยบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด
การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง(ดีเซล)จากเศษวัสดุทางการเกษตร ในนามบริษัท โกลบอล ไบโอดีเซล จำกัด ด้วยขนาดกำลังผลิต 33 ล้านลิตร/ปี หรือขนาด 100,000 ตัน/วัน ใช้เงินลงทุนรวมที่ดินและทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 3,735 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี ใช้วัตถุดิบทะลายปาล์มเปล่าจำนวน 183,500 ตัน/ปี ซื้อจากบริษัท ยูนิปาล์ม อินดัสทรี จำกัด จำนวน 231,000 ตัน/ปี
ส่วนอีก 3 โครงการ เป็นการส่งเสริมผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลหรืออีโคคาร์(ECO CAR) ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท Tata Motors ประเทศอินเดีย ผลิตรถประหยัดพลังงานปีละ 100,000 คัน ลงทุน 7,317 ล้านบาท ชาวอินเดียถือหุ้น 100% ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง เป็นการผลิตรถประหยัดพลังงานและเครื่องยนต์ จำหน่ายในประเทศ 48% และส่งออก 52% ไปยังแถบอาเซียน เอเชียแปซิฟิก และแอฟริกาใต้
โครงการของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผลิตรถอีโคคาร์ปีละ 100,000 คัน ลงทุนรวม 4,642 ล้านบาท เป็นหุ้นไทย 14% และญี่ปุ่น 86% ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา โดยโตโยต้าฯ เสนอแผนการลงทุนเป็นโครงการรวมประกอบด้วยการผลิตรถอีโคคาร์ เครื่องยนต์และการจัดหาชิ้นส่วน จำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออก 50% โดยมีตลาดส่งออกหลักไปยังอาเซียนและ Oceania
และโครงการของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังผลิตปีละ 107,000 คัน ลงทุนมูลค่า 4,711 ล้านบาท เป็นหุ้นไทย 0.2% และญี่ปุ่น 99.8% เป็นโครงการรวม(Package) ประกอบด้วยรถประหยัดพลังงานและเครื่องยนต์ ผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนเพื่อป้อนตลาดในประเทศ 12% และสัดส่วน 88% สำหรับส่งออกไปยังออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เป็นตลาดหลัก
เมื่อปลายปี 50 บีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ไปแล้ว 3 ค่าย ลงทุนรวม 21,750 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล(ประเทศไทย)จำกัด มูลค่า 6,700 ล้านบาท, บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ผลิตรถอีโคคาร์พร้อมชิ้นส่วน(ซีเคดี)มูลค่า 5,550 ล้านบาท และบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ผลิตรถอีโคคาร์และชิ้นส่วน มูลค่า 9,500 ล้านบาท

แท็ก บีโอไอ   (PTT)   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ