ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 กันยายน 2565 ซึ่ง กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ และในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น
"ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้" รายงาน กนง.ระบุ
คณะกรรมการฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 โดยคาดว่าขยายตัว 3.3% และ 3.8% จากเดิม 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ จากปัจจัย 1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องดีกว่าคาด โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคน เป็น 9.5 ล้านคน จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่มากขึ้น และมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่คลี่คลายลง ขณะที่ประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน 2. การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคหมวดบริการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ตลาดแรงงานฟื้นตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ลดลงเหลือ 1.4% 3.การส่งออกสินค้าในปี2565 มีแนวโน้มขยายตัวตามคาดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น เพราะความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติอาหาร และปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่คลี่คลายลง
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มคลี่คลาย โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 อยู่ที่ 6.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานโน้มสูงขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ประกอบกับยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในวงกว้าง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะทยอยลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย มาอยู่ที่ 2.6% ตามราคาพลังงานและน้ำมันขายปลีกในประเทศที่คาดว่าจะปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2566 มีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.4% ตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่คาดว่าจะลดลง
สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ ได้มีการอภิปรายกัน ได้แก่ 1.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า แต่ประเมินว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
2.เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงสูงและต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ผ่านการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่มากขึ้นและเริ่มขยายวงกว้าง โดยผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนเพิ่มเติมหากเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นหลายปัจจัยพร้อมกัน เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และค่าจ้าง
3. คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาธุรกิจที่กำลังฟื้นตัวและใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ภาคการก่อสร้าง ที่อาจสร้างแรงกดดันค่าจ้างและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวในสาขาธุรกิจดังกล่าว
4. เงินบาทปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค จึงไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงยังไม่พบการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติ แต่การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทอาจสร้างแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มเติมต่อผู้ประกอบการ และเร่งให้เกิดการส่งผ่านต้นทุนมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ จึงต้องติดตามพัฒนาการในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทมีความผันผวนสูง
5. คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
"ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป เช่น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หรืออัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ คณะกรรมการฯ อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่มากกว่า 0.25% ได้ หรืออาจหยุด ขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวได้ เพื่อรอดูความชัดเจนหากมีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้" รายงาน กนง.ระบุ