นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้สัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ "INVESTMENT AND BUSINESS OPPORTUNITIES IN SAUDI ARABIA" เพื่อเปิดโอกาสด้านการค้า-การลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย โดยตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 ล้านบาทในปีแรก ภายใต้การดำเนินงานของสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย สภาธุรกิจซาอุดีอาระเบีย-ไทย และกระทรวงส่งเสริมการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนจะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ (Health & Wellness) ด้วย
ในส่วนของการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย และสภาธุรกิจซาอุดีอาระเบีย-ไทย จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน และหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสและความร่วมมือในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาช่วยผลักดันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการผลิตที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้
ดังนั้นการเจาะตลาดคู่ค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา อเมริกาใต้ จะเป็นโอกาสของไทยในด้านการค้าและการลงทุน โดยตลาดตะวันออกกลางมีมูลค่าการค้ากับไทย 32,101 ล้านดอลลาร์ ตลาดลาตินอเมริกา มีมูลค่าการค้ากับไทย 11,427 ล้านดอลลาร์ และตลาดอเมริกาใต้ มีมูลค่าการค้ากับไทย 7,227 ล้านดอลลาร์
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ระหว่างการสัมมนา ผู้แทนของซาอุดีอาระเบียได้ชูนโยบาย Saudi Vision 2030 ในการสร้างเมืองอัจฉริยะ "นีอุม" (Neom) และเมืองอื่นๆ ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค และยังเสนอแนะให้มีการขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศด้วย ผ่านโครงการ World Class Investment เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในซาอุดีอาระเบียให้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจระดับโลก และโครงการ Misa Services ซึ่งเป็นโครงการโดยกระทรวงส่งเสริมการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำด้านการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ
โดย ส.อ.ท.ได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 กลุ่มที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมโลหะและเหมืองแร่ สินค้าอาหารฮาลาลและสินค้าเกษตร ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองใหม่แห่งนี้
"ครั้งนี้ ภาคเอกชนจะรวมตัวกันไปรับงานเกี่ยวกับการตกแต่งภายใน ที่มีมูลค่ามากกว่าการก่อสร้าง 2-3 เท่าตัว เพราะจะไปแข่งขันเรื่องการก่อสร้างคงไปสู้กับจีนไม่ได้ โดยจะมีการใช้วัสดุตกแต่งที่ผลิตจากประเทศไทย" นายเกรียงไกร กล่าว