ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น จากเงินเฟ้อโลกที่ชะลอลงช้า และคาดว่าจะอยู่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางนาน 1-2 ปี การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วขึ้น เป็นผลจากธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลก
ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มแผ่วลงมากขึ้น และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 จากนโยบายการเงินที่เข้าสู่ระดับตึงตัว (Restrictive) นานขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 65 จากวิกฤตพลังงานและนโยบายการเงินตึงตัวเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจจีน จะชะลอตัวลงมากจากมาตรการ Zero COVID ที่ยังคงดำเนินอยู่ประกอบกับความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ EIC มองว่า หากนโยบายการเงินโลกตึงตัวมากขึ้นอีก 100-200 Basis Points (BPS) จากกรณีฐาน เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวรุนแรงหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีหน้า สำหรับเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ที่มีหนี้สูง ภาครัฐจะเผชิญต้นทุนกู้ยืมแพงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางการเงิน (Financial distress) และมีข้อจำกัดทางการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมีความไม่แน่นอนสูง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 ช่วงฤดูท่องเที่ยวไทย การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเกือบทุกหมวด ในระยะต่อไปยังมีปัจจัยหนุนจากการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคบริการ และรายได้ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่ปรับดีขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ส่วนการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากฐานต่ำ แต่เริ่มเห็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนในเกือบทุกกลุ่มสินค้าหลักและในตลาดสำคัญ ทั้งนี้ ในระยะต่อไปการส่งออกจะชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่นเดียวกับทิศทางการลงทุนและการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
ในส่วนของสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่าในปี 54 โดยเบื้องต้นคาดว่าพื้นที่เกษตรจะได้รับผลกระทบ 1.9 ล้านไร่ หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 12,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จะต้องติดตามประเมินผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และการท่องเที่ยวเพิ่มเติม
ด้านเงินเฟ้อทั่วไป ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว จากราคาหมวดพลังงานที่ปรับชะลอลง แต่เงินเฟ้อขยายวงกว้างไปสินค้าหลายประเภทมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ในระยะต่อไปคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงอย่างช้าๆ โดยจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคมากขึ้น
EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 2% ณ สิ้นปี 66 โดย กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 25 BPS ในเดือน พ.ย. สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดแล้ว แม้จะไม่ปรับลดลงเร็วนัก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง
ส่วนในปี 66 กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง เพื่อให้นโยบายการเงินทยอยกลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว โดย EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไประดับ Pre-COVID ได้ในช่วงกลางปี 66 แต่จะอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพไปอีก 1-2 ปี จากแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกและมีหนี้สูงขึ้น