กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 37.80-38.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 38.04 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 37.66-38.28 บาท/ดอลลาร์
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่เงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯพุ่งขึ้นหลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯสูงเกินคาด สนับสนุนมุมมองที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75bp เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.65 โดยสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและไม่มีสัญญาณว่าแรงกดดันด้านราคาจะชะลอลงสู่ระดับที่อาจจะทำให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.2% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 6.6% ทางด้านเงินปอนด์เคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ขณะที่รัฐบาลอังกฤษยกเลิกแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนและเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 4,784 ล้านบาท และ 9,836 ล้านบาท ตามลำดับ
สถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับสถานการณ์สภาพคล่องในตลาดพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และสัญญาณใดๆซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในอังกฤษ เรามองว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงผันผวนสูงโดยในภาพรวมค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อไปท่ามกลางความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าวของเฟดและผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะข้างหน้า
สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชี้แจงต่อ รมว.คลังหลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการเงินเฟ้อใน 12 เดือนข้างหน้าออกนอกกรอบที่ 1-3% โดย กนง.คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 3.9% จากแรงกดดันด้านต้นทุนก่อนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 66 โดยหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ กนง.พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นดอกเบี้ย BAY คาดว่า กนง.จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การคงไว้ซึ่งมาตรการ Zero Covid ของจีนในเวลานี้และผลต่อภาคท่องเที่ยวเป็นไปตามกรณีฐาน ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จากการคาดการณ์นโยบายของเฟดเป็นสำคัญ