นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และมีการลดระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกลับมาสดใสคึกคักอีกครั้ง
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองปลายปี 2565 จำนวน 10 ธุรกิจ และคาดว่า ปี 2566 ธุรกิจดังกล่าวก็ยังคงมีความโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ ข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ
รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า สำหรับ 10 ธุรกิจที่น่าสนใจ และมีความโดดเด่นช่วงปลายปี 2565 สามารถจัดประเภทธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับปัจจัยการเปิดประเทศ 2. กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับการหันมาดูแลสุขภาพของผู้บริโภค และ 3. กลุ่มธุรกิจที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตวิถีใหม่
- กลุ่ม 1 ธุรกิจที่สอดรับกับปัจจัยการเปิดประเทศ ได้แก่ 1) ธุรกิจร้านอาหาร 2) ธุรกิจจองที่พักและการเดินทาง 3) ธุรกิจผับบาร์และสถานบริการกลางคืน และ 4) ธุรกิจ MICE ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการเปิดประเทศ และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน อีกทั้งฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของประเทศในช่วงสิ้นปี ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
เมื่อพิจารณาจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในกลุ่มดังกล่าว ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ของปี 65 พบว่า
1) ธุรกิจร้านอาหาร มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 2,288 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 9.67%
2) ธุรกิจจองที่พักและการเดินทาง มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 722 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 261 เท่า
3) ธุรกิจผับบาร์ สถานบริการกลางคืน มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 102 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 200 เท่า
4) ธุรกิจ MICE มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งหมด 1,202 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 10.17%
- กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่สอดรับกับการหันมาดูแลสุขภาพของผู้บริโภค โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจในสุขภาพของตนเองมากขึ้น และมีความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคโควิด-19 เช่น ฟ้าทะลายโจร สารสกัดหอมแดงในรูปแบบนาโน (HomHom Balm Gel) โดยมีการเติบโตของการส่งออกสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
5) ธุรกิจขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 33 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึง 200 เท่า นอกจากนี้ในปี 2564 ธุรกิจนี้ยังมีกำไรสูงถึง 155.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2%
6) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 506 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1 เท่า มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 1,270 ล้านบาท
7) ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 245 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 57% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 620.20 ล้านบาท
- กลุ่มที่ 3 ธุรกิจที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการเติบโตสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ได้แก่
8) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ที่นิยมซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์แทนการซื้อสินค้าหน้าร้าน มีการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด 1,214 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 12.51% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 13.83% นอกจากนี้ ธุรกิจดังกล่าวยังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีรายได้สูงถึง 135,856 ล้านบาท
9) ธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่ให้ความสะดวก ง่าย และรวดเร็ว ตอบสนองวิถีชีวิตในรูปแบบปัจจุบัน มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2564 คิดเป็น 1 เท่า และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.7 เท่า
10) ธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยสร้างมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงรูปแบบอื่น มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.26% เท่า และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 133 เท่า สอดคล้องกับธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลที่กว่า 60% ของนิติบุคคลจัดตั้งมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ธุรกิจดาวเด่น 10 ประเภท ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2,018,062 ล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 55,612 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 474,274 ล้านบาท คาดว่าปี 2565 การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลถึงปี 2566 อย่างต่อเนื่อง
"ผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ 10 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องมีรอบคอบให้มากที่สุด" รมช.พาณิชย์กล่าว