นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม รมว.คลังเอเปค ครั้งที่ 29 ว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 66 ว่ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดเหมือนกันทุกประเทศ โดยบางประเทศเศรษฐกิจอาจเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยเอง คาดว่าเศรษฐกิจจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 3-3.5% ส่วนปี 66 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.7%
อย่างไรก็ดี ที่ประชุม รมว.คลังเอเปค มีความกังวลร่วมกันใน 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก มีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานและอาหาร และประเด็นที่สอง หนี้สาธารณะของแต่ละประเทศสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศต่างต้องกู้เงินเพื่อมาช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ หลังจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
รมว.คลัง กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะสูงขึ้นนี้ ที่ประชุมต่างเห็นร่วมกันว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง จะต้องมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บรายได้ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหารายได้ ซึ่งยอมรับว่าอาจส่งผลให้โครงการลงทุนภาครัฐอาจชะลอลง ดังนั้นในอนาคตจึงต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่กับภาครัฐมากขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากหลายประเทศทั่วโลกเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ต้องมีการระดมทุนในโครงการหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การออก Green Bond
"ประเทศสมาชิกเอเปค อยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะภาระการลงทุนในภาครัฐเรื่องสิ่งแวดล้อมมีมาก ดังนั้นจึงต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย และการลงทุน ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ในส่วนของไทยเอง ได้มีการออกพันธบัตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำเงินมากใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ซึ่งในอนาคตก็จะมีโครงการต่อไปอีก" นายอาคม กล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันในประเด็นการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้ประโยชน์ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของไทยได้มีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาภาคการเงินด้วยการใช้ระบบพร้อมเพย์ ซึ่งทำให้ระบบการชำระเงินมีความสะดวกรวดเร็ว และจะมีการเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างประเทศกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต
"ไทยได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ประโยชน์กับการชำระเงินอย่างชัดเจน ถือว่าเราได้ดำเนินการล้ำหน้าพอสมควร" นายอาคม กล่าว
สำหรับผลการประชุม รมว.คลังเอเปค อย่างเป็นทางการ มีข้อสรุปดังนี้
1. ผลการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29
1.1 ผลการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจาก IMFได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0ต่อปี และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากปี 2565ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5ต่อปี ที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปีและคาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากปี2565 โดยเศรษฐกิจโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผลการคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ ADB และ APEC PSUนอกจากนี้ADB ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าความร่วมมือของภูมิภาคเอเปคในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจของเอเปคสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ
ในการนี้ผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทยโดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 - 3.5 ต่อปี เป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและนโยบายการคลังในลักษณะที่มุ่งเป้า (Targeted)เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
1.2 ผลการหารือในประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ADB และ OECDได้นำเสนอประสบการณ์ด้านการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศข้างต้น ได้กล่าวถึงกลไกที่จะสามารถส่งเสริมให้แต่ละเขตเศรษฐกิจสามารถบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เช่น การพิจารณาใช้กลไกของกองทุนสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility: ACGF) เพื่อช่วยในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) การมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการออกพันธบัตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่าง ๆ ได้แก่ การพันธบัตรสีเขียว (Green bond) พันธบัตรเพื่อสังคม (Social bond) พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) พันธบัตรสีฟ้า (Blue bond) หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นนอกจากนี้ OECD ได้เน้นด้านการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
1.3 ผลการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่ประชุมได้รับทราบผลของการจัดทำรายงานเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายด้านภาษีในภูมิภาคเอเปค(Digitalization and tax policy in Asia and the Pacific)ของ ADB ซึ่งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายด้านภาษี เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง การเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การอำนวยความสะดวกโดยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลหรือธุรกิจเข้ากับเลขประจำตัวการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลต่าง ๆ เป็นต้น
ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการสัมมนาเรื่อง Digital Technology for Efficient Tax Collection ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2565โดยเป็นการหารือเกี่ยวกับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ในการบริหารจัดการด้านข้อมูลภาษี รวมถึงแนวทางปฎิบัติด้านภาษีที่เป็นสากลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่อง Digitalization of Fiscal Measures and Policy Innovations during the COVID-19 Pandemic ที่กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านภาษี การเงิน การบริการของภาครัฐ การศึกษา และสาธารณสุข ทั้งนี้ เอกสารข้อเสนอดังกล่าว ได้ระบุถึงกรณีศึกษาของไทยในการดำเนินนโยบายผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อาทิ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) การเพิ่มการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) ระบบภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Government e-Payment system)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดทำเอกสารการพิจารณาเชิงนโยบายการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน (APEC Policy Considerations for Developing Cross-border Payments and Remittances) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเขตเศรษฐกิจในเอเปคที่ต้องการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างกันซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัยด้วยต้นทุนที่ถูกลงรวมทั้งสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาคซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19 1.4 ผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของผลลัพธ์ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อประสบการณ์และวิธีการสำหรับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค(APEC Experiences and Available Tools for Financing a Just Energy Transition) จากผู้แทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ได้ทราบถึงแนวทางในการจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน(Just Energy Transition)ซึ่งสมาชิกเขตเศรษฐกิจสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบของแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละเขตเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป