พาณิชย์ ปลื้ม FTA ดันส่งออกเครื่องสำอาง 8 เดือนปีนี้พุ่ง 1.8 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 21, 2022 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ ปลื้ม FTA ดันส่งออกเครื่องสำอาง 8 เดือนปีนี้พุ่ง 1.8 พันล้านดอลล์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องสำอางและความงาม ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีศักยภาพโดดเด่นและน่าจับตามอง โดยมูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 4 ปี (61-64) ไทยส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 2,981 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี

สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - ส.ค. 65) ไทยส่งออกสินค้าเครื่องสำอางสู่ตลาดโลก มูลค่า 2,203 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ 11%) จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งออกเครื่องสำอางไป 18 ประเทศคู่ FTA มูลค่ากว่า 1,795 ล้านเหรียญสหรัฐ (+8%) ซึ่งสัดส่วนการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปประเทศคู่ FTA สูงถึง 81.5% ของการส่งออกเครื่องสำอางทั้งหมด

นางอรมน กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าเครื่องสำอาง พบว่า ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าที่ไทยมี FTA ด้วย โดยอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ครองสัดส่วน 45% ของการส่งออกเครื่องสำอางทั้งหมด สำหรับตลาดส่งออกหลัก คือ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และจีน โดยในช่วงเดือน ม.ค. - ส.ค. 2565 ตลาดที่การส่งออกขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน (+12%) ออสเตรเลีย (+18%) จีน (+16%) เกาหลีใต้ (+22%) และอินเดีย (+23%) ส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม (+6%) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แต่งหน้าและบำรุงผิว (+6%) สบู่ (+12%) สิ่งปรุงแต่งที่ใช้โกนหนวดและดับกลิ่นตัว (+2%) น้ำหอมและหัวน้ำหอม (+331%) และวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องสำอาง (+11%)

ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ซึ่งปัจจุบันสินค้าเครื่องสำอางของไทยทุกรายการ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ากับคู่ FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ส่วนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางในบางรายการ

สำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เกาหลีใต้จะทยอยลดภาษีสบู่เหลวจนเหลือศูนย์ในปี 2579 ส่วนสบู่ก้อน และแชมพู จะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปี 2584

นางอรมน กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมเข้าคลินิกเสริมความงามเพิ่มขึ้น เน้นการรักษาผิวพรรณด้วยการทำหัตถการลดเลือนริ้วรอย อาทิ โบท็อกซ์ และฟิลเลอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ไทยจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ โดยไทยได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรทั่วไปในสินค้ากลุ่มสารลดเลือนริ้วรอยที่อัตรา 10% แต่หากเป็นการนำเข้าจากประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย อาทิ เกาหลีใต้ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า

ปัจจุบัน ไทยไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าสารลดเลือนริ้วรอยจาก 16 ประเทศคู่ FTA แล้ว ยกเว้นอินเดีย และฮ่องกง ที่ไทยลดภาษีนำเข้าเหลือที่อัตรา 5% และ 7% ตามลำดับ

"จากศักยภาพที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย และข้อได้เปรียบด้านภาษีภายใต้ FTA จะเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมความงามเติบโตขึ้นในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการควรพิจารณาเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสขยายส่งออก และลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบให้กับธุรกิจ" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ