นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปลายปี 65 มีทิศทางกระเตื้องขึ้น โดยผลกระทบจากน้ำท่วมในบางพื้นที่ของประเทศ จะผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี จะช่วยประคับประคองกำลังซื้อในประเทศไปได้ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ คนละครึ่งเฟส 6 เป็นต้น ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ควรทบทวนและเน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี จะช่วยรักษาระดับการใช้จ่ายในประเทศได้ ชดเชยการใช้จ่ายในภาคการบริโภค และการลงทุนที่หายไปจากปัญหาอุทกภัย
การปรับลดของทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้ส่งสัญญาณปัญหาทางเศรษฐกิจใดๆ เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประกอบกับการลดลงของทุนสำรอง เป็นผลจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในทุนสำรองตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่วนการลดลงของทุนสำรองอันเป็นจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ามาเกินไป ควรทำด้วยความระมัดระวังและไม่ฝืนกลไกตลาด เนื่องจากมีบทเรียนจากการสูญเงินทุนสำรองจำนวนของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้
สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นในตลาดการเงินนั้น ไม่พบเงินไหลออกมากกว่าปกติแต่อย่างใด มีเงินไหลออกและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยมียอดสุทธิประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การอ่อนค่าลงตามกลไกตลาดของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เกิดผลดีต่อการลดแรงกดดันจากภายนอก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคส่งออกไทยดีขึ้น ช่วยปรับดุลการค้าให้เกินดุลเพิ่มขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 12-13% โดยการอ่อนค่าของเงินบาท 1 บาทจะส่งผลต่อราคานำเข้าสูงขึ้นประมาณ 0.7% โดยประมาณ
"คาดการณ์ว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าเกิน 39 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปีเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ หากเงินบาทแข็งค่าจากระดับปัจจุบัน 1 บาท ก็จะทำให้สินค้านำเข้าลดลงได้อย่างน้อย 0.5% มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อปลายปีชะลอตัวลงได้ หากปัญหาราคาพลังงานแพง และผลกระทบน้ำท่วมต่อภาคเกษตรกรรมไม่รุนแรงเกินไป การว่างงานลดลงต่อเนื่อง และเกือบจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19" นายอนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Bloomberg Consensus พบว่า ไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำมาก คือ เพียง 15% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยประเทศที่มีโอกาสสูงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ รัสเซีย ยูเครน ศรีลังกา สหราชอาณาจักร อิตาลี โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากกว่า 80% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ส่วนสหรัฐอเมริกา น่าจะมีเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยไม่มาก
ส่วนเศรษฐกิจโลกนั้นมีความไม่แน่นอนสูง และ มีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% ลดลงจากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 3.2% แต่อัตราการขยายตัวโดยภาพรวมของเอเชีย ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เฉพาะ Emerging Market and Developing Economies ของเอเชียน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 4.9% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 4.4% ในปีนี้
สำหรับการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment-FDI) ในภูมิภาคอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นชัดเจน ยกเว้นเมียนมา แม้อัตราการขยายเศรษฐกิจโลกโดยรวมปี 66 ชะลอตัว แต่การคลายล็อกดาวน์ทำให้กระแสเม็ดเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Global FDI) ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีนี้ และปี 66 น่าจะเห็นการฟื้นตัวในรูป V-shape ชัดเจนในภูมิภาคอาเซียน และไทย