นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนกันยายน 2565 พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 52.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.2 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
โดยมีปัจจัยบวกมาจากกำลังซื้อในภาคการค้าและภาคการบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม รวม 18,693,602 คน (ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนมาจากการจัดงานอีเว้นท์และงานประเพณีในแต่ละพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกิจการรายย่อย รวมทั้งกิจการภาคการค้าและภาคบริการ
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนกันยายน เพิ่มขึ้น ได้แก่ องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อและกำไร เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 62.8 และ 54.9 ตามลำดับ จากระดับ 58.2 และ 49.2 ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการค้า ภาคการบริการและภาคการเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 54.9 53.7 และ 53.0 ตามลำดับ จากระดับ 51.2 51.9 และ 49.3 ตามลำดับ
ผลจากกำลังซื้อขยายตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และภาคใต้ ส่งผลให้ธุรกิจบริเวณใกล้ด่านชายแดน และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศส่งผลให้ความต้องการในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและการค้าปลีกเพิ่มมากขึ้น
โดยภาคการบริการเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจร้านอาหาร ร้านนวด สปา โรงแรม ที่พัก อีกทั้งหลายประเทศประกาศเปิดประเทศ ช่วยสนับสนุนกิจการบริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้มียอดจองเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ภาคการก่อสร้าง ยังขยายตัวต่อเนื่องจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
ส่วนภาคการเกษตร มีผลมาจากความต้องการผลผลิตทางการเกษตรสูง เนื่องจากเริ่มช่วงเทศกาลกินเจ ประกอบกับผลผลิตไม่เพียงพอในตลาดทำให้ขายได้ราคาสูงโดยเฉพาะผักกาด ผักชี หอมแดง หอมแขก เป็นต้น ในส่วนภาคการผลิต ชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผลิตยารักษาโรคและอัญมณี เนื่องจากผู้บริโภคลดการกักตุนยา และชะลอการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนกันยายน 2565 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค
- ภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 53.5 จากระดับ 50.0 ผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปเดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น และเริ่มเข้าสู่ช่วง high season มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น การเที่ยวชมเมืองโดยใช้มอเตอร์ไซค์/บิ๊กไบค์ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพื่อนบ้าน (มาเลเซียและสิงคโปร์) เข้ามาอย่างมาก ธุรกิจบริเวณใกล้ด่านชายแดน และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะภูเก็ต สงขลา เกาะสมุยและเกาะพะงัน รองลงมา คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 56.1 จาก 53.4 ผลจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ตลอดจนมีการจัดกิจกรรม งานอีเว้นท์ และการแสดงคอนเสิร์ตมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาขาบริการ โดยเฉพาะร้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค โรงแรมที่พัก รวมไปถึง ร้านนวด สปา
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 51.6 จาก 50.5 ผลจากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น งานแสดงประเพณีของพื้นที่ งานรับปริญญา รวมถึงโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มการค้าและการบริการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รถตู้รับเหมา โรงแรม ที่พัก ในส่วนของร้านอาหาร นอกจากปัญหาต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงแล้ว ยอดคำสั่งซื้อหน้าร้านกลับลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคชะลอออกมานอกบ้าน
- ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 49.7 จาก 48.9 ผลจากกำลังซื้อขยายตัวจากนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางเข้ามาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจในพื้นที่
- ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 51.7 จาก 51.1 จากภาพรวมธุรกิจขยายตัวจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ประกอบกับมีการซ่อมแซมและปรับปรุงสถานประกอบการ ส่งผลดีต่อภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากพายุลมฝน ทำให้ผลผลิตเสียหายและไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้
- ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.2 จาก 51.8 ธุรกิจการเกษตรขยายตัวและราคาปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีการขยายตัวในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร จากโครงการคนละครึ่งเฟส 5
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 เนื่องจากผู้ประกอบการมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดการณ์ยอดขายและการใช้บริการจะสูงในช่วงปลายปีเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนของกิจการลดลง และคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนออกมาต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ จากการสอบถามธุรกิจ SME กับสถานการณ์และความต้องการช่วยเหลือด้านหนี้สินของธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการ SME กว่า 50% ไม่มีภาระหนี้สิน ส่วน 48.2% มีภาระหนี้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาด กลางมีสัดส่วนภาระหนี้สินสูงสุด แหล่งเงินกู้ยืมที่ใช้จ่ายในกิจการ 75.5% มาจากสถานบันการเงิน โดยอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากที่สุด และส่วนใหญ่กู้ยืมเพื่อลงทุนในกิจการ ขณะที่ผู้ประกอบการที่กู้ยืมนอกระบบ ส่วนใหญ่กู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องและนายทุนเงินกู้ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนและการซ่อมแซมขนาดเล็กที่ใช้จำนวนเงินไม่มากนัก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME กว่า 70% ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้จนครบสัญญา แต่ยังมีผู้ประกอบการเกือบ 30% ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งอยู่ในธุรกิจภาคการเกษตรและภาคการค้ามากที่สุด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสามารถชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือนหากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่แย่ลง
จากการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ผู้ประกอบการ SME ประเมินว่าภาระค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 1-20% และจะส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง (21-40%) โดยขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นจะได้รับผลกระทบที่มากขึ้น และกว่า 80% มีแผนรับมือต่อภาวะค่าใช้จ่ายด้านหนี้สินที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม 50% ใช้วิธีการลดการลงทุนและค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
สิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คิดเป็น 33.1% คือ การพักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) รองลงมาคือ ลดอัตราดอกเบี้ย คิดเป็น 20.5% และขยายระยะเวลาชำระหนี้ คิดเป็น 17.1% ตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีภาระหนี้สิน 24.4% มีแผนการกู้ยืมเงินในระบบสถาบันการเงินในอนาคต เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ โดยสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การจัดหาแหล่งเงินทุน/ รูปแบบสินเชื่อที่ตรงตามลักษณะธุรกิจ รองลงมา คือ การงด/ลดค่าธรรมเนียมในการยื่นขอสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต้นทุนในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคการผลิต ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากราคาสินค้าบางรายการยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจ