ธนาคารกรุงไทย (KTB) ระบุว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพิ่มประเภท "สินเชื่อเพื่อการปรับตัว" เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวให้สอดรับกับบริบทโลกใหม่ (new normal) และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
KTB จึงได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 3 วงเงินสินเชื่อเพื่อการปรับตัว หรือสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัว สนับสนุนวงเงินสำหรับการปรับปรุง การพัฒนา หรือเสริมศักยภาพธุรกิจให้สอดรับกับบริบทโลกใหม่ (New Normal) ใน 3 รูปแบบ คือ กระแสเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) และนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ธุรกิจของโลก "เทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต" ดอกเบี้ยคงที่ 2% ใน 2 ปีแรก และยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อการปรับตัว เพิ่มความคล่องตัวให้ผู้ประกอบการด้วยวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (รวมวงเงินกู้สินเชื่อฟื้นฟูและซอฟท์โลนเดิมจากทุกสถาบันการเงิน) ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยยกเว้นดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก (รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยให้ในช่วง 6 เดือนแรก) ส่วนปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MLR เปิดกว้างใช้หลักประกันได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก และการค้ำประกันจากบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ คุณสมบัติผู้กู้และเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย พร้อมเป็นกลไกสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจในทุกด้าน เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจ "กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน" ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Green Finance)