นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มั่นใจนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังดำเนินไปตามแผนอย่างเป็นระบบ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายแล้ว แม้ราคาพลังงานและเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนสูง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังต้องเฝ้าระวัง ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นไปในแนวทางเดียวกับทั่วโลก
ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับทราบรายงานสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.65) มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% และมีมูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ลดลง 14% เนื่องจากปีที่แล้วมีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ายื่นขอรับการส่งเสริมหลายโครงการมูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท
หากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุดจะพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17% และมูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เป็นสัญญาณว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น โดยมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่ารวม 286,699 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากจีน มีเงินลงทุนมากที่สุด 45,024 ล้านบาท ตามด้วยไต้หวัน 39,256 ล้านบาท และญี่ปุ่น 37,591 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนจากจีนและไต้หวันส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าการลงทุนใน 2 สาขานี้จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 376 โครงการ เงินลงทุนรวม 246,655 ล้านบาท คิดเป็น 56% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี
นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพจำนวน 234 โครงการ เพิ่มขึ้น 86% และมีเงินลงทุน 15,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยและนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย รองลงมาคือ การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนหรือการประหยัดพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลดคาร์บอนของโลก
"นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการให้พิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ควบคู่สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนไทยได้พิจารณาตัดสินใจในการขยายธุรกิจ อีกทั้งเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม Startup SMEs และวิสาหกิจชุมชนของไทยให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอีกด้วย" นายอนุชา กล่าว