นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Central Bank of the United Arab Emirates: CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Digital Currency Institute of the People?s Bank of China: PBC DCI) โดยการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements Innovation Hub: BISIH) ณ ฮ่องกง ทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ใน 4 สกุล มาใช้โอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศในธุรกรรมจริงเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้โครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ในปี 2564
การทดสอบโครงการ mBridge เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 23 กันยายน 2565 โดยครอบคลุมการทำธุรกรรม 3 ประเภท ได้แก่
1. การออกใช้ CBDC (issuance) ของธนาคารกลาง และแลกคืน CBDC (redemption) กับธนาคารกลาง
2. การโอน CBDC ระหว่างประเทศ ด้วยเงินสกุลท้องถิ่น หรือสกุลปลายทางที่มีอยู่ (Cross-border CBDC payment) ผ่านธนาคารพาณิชย์
3. การแลกเปลี่ยน CBDC สองสกุล ระหว่างธนาคารพาณิชย์ (Cross-border exchange of CBDC)
ทั้งนี้ ในการทดสอบ มีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมทั้งหมด 20 ราย จากทั้ง 4 ประเทศ โดยเป็นธนาคารพาณิชย์จากประเทศไทยจำนวน 5 ราย ซึ่งมีธุรกรรมระหว่างประเทศจำนวน 164 ธุรกรรม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่า 827 ล้านบาท)
นายเมธี กล่าวว่า จากผลการทดสอบ พบว่าการทำธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ บนระบบ mBridge ด้วย CBDC สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศได้เทียบกับระบบในปัจจุบัน โดยลดการพึ่งพาธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (correspondent banks) ซึ่งช่วย 1. ลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศลงเหลือเป็นหลักวินาที (จากเดิมเฉลี่ย 3-5 วัน) 2. ลดต้นทุนการทำธุรกรรมการโอนเงิน 3. ลดความเสี่ยงด้านการชำระดุล (settlement risk) และ 4. เอื้อต่อการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศ
ในระยะต่อไป การดำเนินโครงการ mBridge จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบและคุณสมบัติต่าง ๆ ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกับคำนึงถึงนัยต่อการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ โดย ธปท. จะพิจารณาความเหมาะสมในการขยายขอบเขตการพัฒนา และทดสอบในบริบทของการนำมาใช้จริงต่อไป