นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการเปิดงานประจำปี OIE Forum 2022 "Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิกโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย" ที่จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) โดยระบุว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ แต่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ยังคงมีทุนทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ มีทรัพยากรที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล และมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดโลก
ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการปรับตัวเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยนำมาใช้ยกระดับการผลิต และเพิ่มมูลค่าสินค้า, การเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก, ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพิ่มความต้องการพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยืดหยุ่น ที่จะลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าและการนำเข้าจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง แต่หันมาส่งเสริมการผลิตที่สร้างสายการผลิตและเพิ่มมูลค่าได้เองภายในประเทศ
นายวันชัย กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระยะถัดไป กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวง เดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง, การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0, การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน, การพัฒนาอุตสาหกรรมในมิติพื้นที่ และการยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า การจัดงาน OIE Forum 2022 ภายใต้หัวข้อ "Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิกโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย" มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อนำเสนอมุมมอง และแนวคิดปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและซับซ้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้การจัดงานครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง พร้อมก้าวสู่การปรับโครงสร้างการผลิต ไปสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนต่อไป
นางวรวรรณ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย" ว่า ประเมินทิศทางอุตสาหกรรมปีหน้าเริ่มฟื้นตัวในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และอุตสาหกรรมใหม่ที่เริ่มเข้ามา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มองว่าจะฟื้นตัวในปี 66 เช่นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดรูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น
ด้านดัชนีแนวโน้มอุตสาหกรรมปีหน้าก็มีแนวโน้มดีขึ้นมาเรื่อยๆ สำหรับในปี 66 น่าจะได้เห็นการขยายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย อาทิ
- กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เช่น รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงยางล้อ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น โดยความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จะขยายตัวดี รวมทั้งความเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
- กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น วงจรรวมและส่วนประกอบ (Integrated Circuit) ตามความต้องการเพื่อใช้กับเครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับ IoT รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า
- กลุ่มเครื่องมือแพทย์ เช่น ถุงมือยาง จากตลาดที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงบ้างตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย
- กลุ่มปิโตรเคมี เช่น เม็ดพลาสติก ตามความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ (เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง การประกอบรถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์) และความกังวลด้านสาธารณสุขหนุนความต้องการผลิตภัณฑ์ อาทิ PE PP และ PET เพื่อผลิตพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เพิ่มขึ้น เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ ABS ซึ่งใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูง (Specialty products) เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ประกอบการบางราย มีแนวโน้มขยายการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics) และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastics) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
"ทิศทางการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลังโควิดคลี่คลายในปี 66 การขยายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ แต่จะมีการปรับเปลี่ยน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปิโตรเคมีมีการใช้พลาสติกมากขึ้นจากช่วงโควิด แต่จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม" นางวรวรรณ กล่าว
นางวรวรรณ กล่าวว่า ความท้าทายในอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ทั้งการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น เทคโนโลยี, สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายและข้อเสนอคลัสเตอร์อุตสาหกรรม คือ 1. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) 2. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) 3. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และ 4. ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันใต้ (SEC) โดยทั้ง 4 พื้นที่จะได้สิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ในพื้นที่บริเวณติดชายแดน
ด้าน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบ แต่ภาคบริการเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ของธุรกิจ SME เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลระยะยาวของโควิด
"เดิมที่ใช้บริการ ก็เปลี่ยนไปใช้ภาคการผลิต เช่น เดิมสมัครสมาชิกออกกำลังกายในโรงยิม แต่เมื่อเกิดโควิดคนก็เริ่มซื้อเครื่องออกกำลังกาย เพื่อออกกำลังกายที่บ้านแทน นี่เป็นรูปแบบการบริโภคในช่วงโควิด แต่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนกลับไปบ้างแล้ว" นายสมเกียรติ กล่าว
ในส่วนของภาพระยะสั้น วัฏจักรเศรษฐกิจมีตัวแปรหลายตัว โดยเป็นโจทย์ในเรื่องของมหภาค คือ การที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งคาดว่าลึกและยาวพอสมควร จากโควิดที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลให้การเงินของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นอัดฉีดเงินจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดเงินเฟ้อตามมา ประกอบกับมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น เงินเฟ้อจึงพุ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และคาดว่าจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน ดังนั้น หลายประเทศจึงต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ จะมีผลกระทบระยะสั้นต่อเศรษฐกิจไทย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบ โดยคาดว่าปี 66 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตที่ 1-2% ยุโรปโตที่ 0.5% และญี่ปุ่นโตที่ 1% ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างเร็ว ปีหน้าจะโตอยู่ที่เพียง 2-3% จากเป้าที่ 5-6% โดยมองว่าการที่จีนจะกลับมาเติบโตอยู่ที่ 5-6% หลังจากนี้ จะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว โดยภาพรวมประเทศขนาดใหญ่เศรษฐกิจค่อนข้างซึม ซึ่งมีผลต่อการบริโภค ส่งออก และการผลิต
ในส่วนของประเทศไทย ราคาพลังงานที่มีราคาสูง และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอาจจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีนโยบายขึ้นค่าแรงอีก ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีดัชนีราคาผู้ผลิตสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค โดยผู้ผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้า หรือผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้ ดังนั้น ผู้ผลิตก็จะรับภาระ อย่างไรก็ดี โชคดีที่เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งช่วยภาคการส่งออกได้บ้าง
นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่ท้าทายผู้ผลิต คือ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ผูกกับภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าไฮเทค เช่น ชิปที่ขาดแคลน เป็นชิปที่ขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นชิประดับสูงที่ใช้กับระบบที่มีความซับซ้อนสูง แต่ประเทศไทยใช้ชิปแบบทั่วไป ดังนั้น ยังไม่นับเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Perfect Storm) ของไทย ส่วนประเทศที่ถือว่าเป็น Perfect Storm คือ สหรัฐฯ ซึ่งผลิตชิปที่ถูกห้ามขายในจีน
"แม้ไทยจะไม่ใช่ Perfect Storm แต่ก็ได้รับผลกระทบ เช่น บริษัทรถยนต์ขาดแคลนชิป ส่วนชิปทั่วไปก็มีปัญหาที่เป็นวัฏจักร ช่วงที่ผ่านมาขาดจำนวนมาก ขณะนี้ราคาก็ลงไปมาก และหลังจากนี้ก็จะมีจำนวนเกินอีก เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้นถ้ามองเรื่องตลาด สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจประเทศใหญ่ถดถอย โดยเฉพาะจีน ที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย ต้นทุนสูง ผู้ผลิตต้องแบกรับ และต้องผลิตแบบลีนมากๆ เพื่อให้อยู่ได้" นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกสามารถเปลี่ยนจาก Change เป็น Chance ได้ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกย้ายศูนย์กลางการเติบโตจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศจีน ไปสู่ภูมิภาคหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศรอบๆ ไทยมีการเติบโตในอัตราสูง ดังนั้น ถ้าประเทศไทยอยากฉกฉวยโอกาสนี้ ก็จำเป็นต้องผลิตสินค้าและบริการส่งไปยังประเทศเหล่านั้น
ในส่วนของ Geopolitics มองว่าน่าจะมีความขัดแย้งต่อไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Supply chain ซึ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคจะได้รับผลกระทบมหาศาล แต่ไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งหากมองผลเสียคือไทยไม่สามารถไต่อันดับไปทำอุตสาหกรรมไฮเทคได้ โดยยอดการลงทุนใน S-Curve หรืออุตสาหกรรมที่ไทยครองแชมป์ ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ใน 5 S-Curve เดิม แต่ S-Curve ใหม่ไทยยังทำได้ไม่ค่อยดี
สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ Low Carbon ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือ มีโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างสะอาดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค แต่มีจุดที่ต้องปรับเปลี่ยน คือ ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มงวด และชัดเจนออกมาจากทางรัฐบาล แม้รัฐบาลจะประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ผ่านการประชุม COP26 แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี การปรับตัวของผู้ประกอบการของภาคอุตสาหกรรม จะเกิดขึ้นเร็วกว่ามาตรการจากทางรัฐบาล ผู้ผลิตระดับโลก ต้องมีการปรับตัว เนื่องจากหากมีการผลิตในประเทศญี่ปุ่น หรือยุโรป ที่มีพันธกรณีต้องลดคาร์บอนฯ อย่างรวดเร็ว จะส่งผ่านไปยังผู้ผลิตต่อไป นอกจากนี้ ยังเกิดการลงทุนในบริษัทที่มีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม มีแนวทางปฏิบัติทางสังคม รวมทั้งการให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
ทั้งนี้ นโยบายที่ภาครัฐจะออกมี 2 แนวทาง คือ 1. การเก็บภาษีคาร์บอนฯ และ 2. การกำหนดโควตา ใช้ระบบเหมือนยุโรป กำหนดว่าธุรกิจสามารถปล่อยคาร์บอนในสัดส่วนเท่าไร ทั้งนี้ มองว่าต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่ง ถ้าไม่มีทั้ง 2 วิธีนี้ประกาศออกมาอย่างชัดเจน ธุรกิจอื่นก็จะไม่ได้รับสัญญาณในการปรับปรุง
นายสมเกียรติ กล่าวว่า วิธีที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรม ในช่วงที่เงินเฟ้อและพลังงานสูงขึ้น ธุรกิจต้องผลิตแบบลีนและ Green หรือเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ต้องเติม Automation หรือใช้เทคโนโลยีให้ทำงานแทน เพื่อลดปัญหาเรื่องค่าแรง และปัญหา Disruption ขณะเดียวกัน ต้องมีนวัตกรรม (Innovation) เพื่อให้เกิด S-Curve ตัวใหม่มากกว่าตัวเก่า และสุดท้ายคือการเปลี่ยนทิศทางตลาดเป็นประเทศเพื่อนบ้าน
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยต้องประสบกับ Perfect Storm หลายด้าน ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 5-8%, อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ทะลุ 38-39 บาท/ดอลลาร์, อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเป็น 1% และมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น, ต้นทุนค่าขนส่ง โดยค่าระวางเรือเดือนส.ค. อยู่ที่ 5,800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ TEU เพิ่มขึ้น 45% (YoY), เงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนส.ค. อยู่ที่ 7.66% สูงสุดในรอบ 14 ปี, ขาดแคลนวัตถุดิบ ความขัดแย้ง Geopolitics ตอกย้ำวิกฤตการณ์ขาดแคลนซัพพลาย (Supply Shortage) และปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ทั้งค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 17% ราคาน้ำมันทำสถิติในรอบ 8 ปี ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ขึ้นเป็น 408 บาท/ถัง
"เรื่องต้นทุนพลังงาน เป็นยาขมของอุตสาหกรรมไทย ทำไมค่าไฟของไทยถึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่ก็นำเข้าพลังงานมาเหมือนกัน เช่น ประเทศเวียดนาม ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยน้อยลง แค่เปิดเครื่องจะเริ่มผลิต ก็ต้องใช้ต้นทุนที่มากกว่าแล้ว" นายเกรียงไกร กล่าว