นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตามรายงานของธนาคารโลก "Thailand Rural Income Diagnostic: Challenges and Opportunities for Rural Farmers" เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 ที่ระบุถึงความยากจน ความแตกต่างกันของความยากจนระหว่างพื้นที่ และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทยนั้น สภาพัฒน์ ขอชี้แจงถึงข้อเท็จจริงตามประเด็นต่างๆ ที่รายงานฉบับนี้ได้รายงานไว้ โดยสรุปดังนี้
1. สถานการณ์ความยากจนและผลกระทบของโควิด-19 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวอย่างรุนแรง โดยในปี 63 หดตัวถึง 6.2% และส่งผลให้ผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 74.4% (อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 1.0% เป็น 1.69%) ส่งผลให้สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6.26% ในปี 62 (จำนวนคนจน 4.3 ล้านคน) เป็น 6.83% ในปี 63 (จำนวนคนจน 4.7 ล้านคน) อย่างไรก็ตาม ในปี 64 สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยสัดส่วนคนจนลดลงมาอยู่ที่ 6.32% หรือมีคนจนเหลือเพียง 4.4 ล้านคน
เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่กลับภูมิลำเนาส่วนใหญ่มักไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร หรือกล่าวได้ว่าภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่ดูดซับประชากรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งในช่วงปี 63 ภาคเกษตรได้รับอานิสงค์จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในปี 63 พบว่า ภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรลดลงจากในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ที่มีการจำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในปี 63 ขยายตัวถึง 6.05% และส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 2.27% ในปี 63
อย่างไรก็ดี หากพิจารณารายได้ต่อหัวระหว่างปี 62 และ 64 พบว่า คนที่อาศัยนอกเขตเทศบาล เป็นกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่อาศัยในเขตเทศบาล โดยในปี 62 รายได้เฉลี่ยของคนที่อาศัยนอกเขตเทศบาลอยู่ที่ 7,588 บาท บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 8,130 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 64 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 7.14% ขณะที่คนที่อาศัยในเขตเมืองมีรายได้อยู่ที่ 11,712 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 62 และเพิ่มเป็น 12,018 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 64 หรือเพิ่มขึ้น 2.61% เท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนคนจน 11.6% (จำนวนคนจน 1.1 ล้านคน) รองลงมาเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนคนจน 11.5% ภาคเหนือ มีสัดส่วนคนจน 6.84% ภาคกลาง มีสัดส่วนคนจน 3.24% และกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนคนจน 0.49%
สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิความไม่เสมอภาคจะมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ในปี 64 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.429 ในปี 62 เป็น 0.430 ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จากข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
2. สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 ขยายตัว 2.2% ชะลอตัวลงจาก 4.2% ในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน และในปี 63-64 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการ เพื่อลดกระทบและเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาด อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ
เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อว่า ยังรวมไปถึงการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น
ในช่วงครึ่งหลังของปี 64 สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มลดระดับความรุนแรงลง มีการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 64 กลับมาขยายตัวที่ 1.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัว 6.2% ในปี 63 อัตราการว่างงานปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.6% ในไตรมาสที่สุดท้ายของปี 64 จาก 1.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 65 ยังคงได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 2.3% และ 2.5% ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 1.4% ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด