คลัง เผยศก.ภูมิภาค ก.ย.ได้ปัจจัยหนุนจากท่องเที่ยว-ความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2022 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง เผยศก.ภูมิภาค ก.ย.ได้ปัจจัยหนุนจากท่องเที่ยว-ความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ดีขึ้น

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือน ก.ย.65 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาค ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกภูมิภาค

  • ภาคเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 4.1% ต่อปี เช่นเดียวกันกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 26.0% ต่อปี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 42.4% ต่อปี รายได้เกษตรกรขยายตัว 38.3% ต่อปี อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 47.0 จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.2

สำหรับเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 7.6% ต่อปี จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 36.3% ต่อปี เช่นเดียวกันกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 459.65 ล้านบาท ขยายตัว 3.5% ต่อปี โดยมีการลงทุนในโรงงานอบพืช หรือเมล็ดพืชด้วยเงินทุน 235.07 ล้านบาท ในจังหวัดเชียงราย เป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 76.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 71.4 เครื่องชี้ด้านการบริการสะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 550.1% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 741.4% ต่อปี

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 2.0% ต่อปี เช่นเดียวกันกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 31.6% ต่อปี และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 38.8% ต่อปี แต่ชะลอตัว -0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล รายได้เกษตรกรขยายตัว 35.6% ต่อปี แต่ชะลอตัว -4.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 48.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.9

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 1.7% ต่อปี แต่ชะลอตัว -21.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 8.7% ต่อปี แต่ชะลอตัว -6.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลง

สำหรับเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 627.7% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 1,023.3% ต่อปี

  • ภาคใต้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 17.0% ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 27.4% ต่อปี แต่ชะลอตัว -11.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกันกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 41.9% ต่อปี แต่ชะลอตัว -1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล รายได้เกษตรกรชะลอตัว อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 40.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.8

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20.8% ต่อปี แต่ชะลอตัว -7.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 2,733.53 ล้านบาท ขยายตัว 497.8% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ด้วยเงินทุน 2,543.23 ล้านบาท ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ

เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.2 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 1,424.0% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 808.2% ต่อปี

  • ภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน ภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 31.3% ต่อปี แต่ชะลอตัว -3.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกันกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 30.4% ต่อปี แต่ชะลอตัว -12.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 53.8% ต่อปี รายได้เกษตรกรชะลอตัว -3.0% ต่อปี แต่ขยายตัว 43.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 47.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.6

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 16.3% ต่อปี แต่ชะลอตัว -18.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20.0% ต่อปี แต่ชะลอตัว -7.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 4,149.81ล้านบาท ขยายตัว 38.4% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานทำผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องใช้ในบ้าน ด้วยเงินทุน 1,536.91 ล้านบาท ในจังหวัดชลบุรีเป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 100.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.1 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 840.2% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 1,055.1% ต่อปี

  • ภาคตะวันตก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 72.1% ต่อปี แต่ชะลอตัว -4.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกันกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 39.8% ต่อปี แต่ชะลอตัว -15.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 42.6% ต่อปี แต่ชะลอตัว -2.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล รายได้เกษตรกรขยายตัว 20.4% ต่อปี แต่ชะลอตัว -2.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 43.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.8

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 4.7% ต่อปี แต่ชะลอตัว -24.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -11.4% ต่อปี แต่ขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 93.9 ล้านบาท ชะลอตัว -57.1% ต่อปี แต่ขยายตัว 34.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 638.6% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 756.9% ต่อปี

  • ภาคกลาง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 45.3% ต่อปี และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 51.5% ต่อปี รายได้เกษตรกรขยายตัว 40.7% ต่อปี แต่ชะลอตัว -2.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 43.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.8

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 5.8% ต่อปี แต่ชะลอตัว -9.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 21.1% ต่อปี แต่ชะลอตัว -6.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล นอกจากนี้เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 904.5% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 1,184.4% ต่อปี

  • กทม.และปริมณฑล ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว -1.6% ต่อปี แต่ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 71.1% ต่อปี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 14.3% ต่อปี แต่ชะลอตัว -6.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 43.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.2 และรายได้เกษตรกรขยายตัว 22.8% ต่อปี

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 36.0%ต่อปี จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 772.4% ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 1,980.0% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ