(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ฟื้นจากแรงหนุนท่องเที่ยว-ส่งออกกลับมาดีขึ้น-เงินเฟ้อลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2022 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.65 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน

ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ (short-haul) อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ และการส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ โลหะ และสินค้าเกษตรแปรรูป

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การใช้จ่ายในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคสินค้าในหมวดอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงเล็กน้อยจากยอดขายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทรงตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดเคมีภัณฑ์ที่ความต้องการจากต่างประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงตาม 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนและเชื้อเพลิง 2) หมวดสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักร มอเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามกรอบงบประมาณที่ลดลง ประกอบกับมีการเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยรายจ่ายประจำหดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านคมนาคม สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและพลังงานเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และผลของฐานต่ำที่หมดไป หลังมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยกลับมาอ่อนค่า ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์

ส่วนภาพรวมไตรมาส 3/65 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่คลี่คลายลง สำหรับภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวด้านอุปทาน อาทิ การบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่ตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง

แนวโน้มเดือน ต.ค.65 และระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2) อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3) การแพร่ระบาดของ COVID-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ