น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV (การกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน Loan to Value) จากที่กำหนดสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธ.ค.65 นี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงมากขึ้น ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งฝั่งของอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งการจ้างงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นมากแล้ว
พร้อมยืนยันว่า การสิ้นสุดการผ่อนคลายมาตรการ LTV จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเกือบทั้งหมด กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งมาตรการ LTV ในปัจจุบันสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทมีการผ่อนคลายมากอยู่แล้ว
"หากจะขยายระยะเวลามาตรการออกไปอีก อาจทำให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินระยะต่อไปได้ เช่น การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์โดยผู้มีรายได้ปานกลาง ถึงรายได้สูง และจะส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต" น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับข้อมูลล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.65) พบว่ามียอดการโอนอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 8.5% ขณะที่มียอดเปิดโครงการใหม่ราว 9,000 ยูนิต/เดือน ใกล้เคียงกับในช่วงต้นปี 62 ที่ 9,300 ยูนิต/เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19
โดยก่อนหน้านี้ สาเหตุที่ ธปท. จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการ LTV โดยเริ่มตั้งแต่ 20 ต.ค.64 - 31 ธ.ค.65 เนื่องจากเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 (ช่วงเม.ย.64) กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนยังเปราะบาง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงานเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ