BAY ให้กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 37.60-38.40 ลุ้นเฟดส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2022 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 37.60-38.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 37.86 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 37.64-38.34 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่บอนด์ยิลด์สหรัฐย่อตัวลงท่ามกลางความคาดหวังที่ว่าสหรัฐอาจลดความแข็งกร้าวในการคุมเข้มนโยบายการเงินก่อนสิ้นปีนี้

ทางด้านการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 75bp สู่ 1.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และจะหารือเรื่องการลดขนาดงบดุลในการประชุมเดือน ธ.ค. โดย ECB ระบุว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ดี นักลงทุนตีความถ้อยแถลงของ ECB ที่ว่าการคุมเข้มนโยบายในส่วนสำคัญเสร็จสิ้นไปแล้ว เป็นสัญญาณว่าดอกเบี้ยปลายทางอาจไม่สูงเท่ากับที่เคยคาดไว้ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สวนกระแสธนาคารกลางทั่วโลกด้วยการคงนโยบายผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 8,464 ล้านบาท และ 4,306 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เหตุการณ์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 1-2 พ.ย. คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 75bp เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันสู่ระดับ 3.75-4.00% นักลงทุนจะจับตาท่าทีของเฟดเพื่อประเมินความแข็งกร้าวในการขึ้นดอกเบี้ยเดือน ธ.ค. โดยหากมีสัญญาณว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงหลังเดือน พ.ย. ค่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานในกรอบที่อ่อนค่าลง

อนึ่ง เรามองอย่างระมัดระวังว่าเฟดอาจทำให้ตลาดผิดหวัง และตอกย้ำความไม่แน่นอนของแนวนโยบายในระยะถัดไป ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoA) และตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ เช่นกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.ย. และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. โดยเราคาดว่าจะขาดดุลลดลง และเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการ GDP ปี 65 ลงเล็กน้อยเป็นขยายตัว 3.4% โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของการลงทุน เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น พร้อมทั้งคาดว่า GDP ปี 66 จะเพิ่มขึ้น 3.8% และประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 21.5 ล้านคน โดยให้ความเห็นว่าหากเศรษฐกิจโลกถดถอย ไทยยังสามารถใช้มาตรการทางคลังประคองเศรษฐกิจ โดยเน้นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และเป็นมาตรการชั่วคราวมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ