(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI ต.ค.ขยายตัว 5.98% ส่วน Core CPI ขยายตัว 3.17%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2022 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI ต.ค.ขยายตัว 5.98% ส่วน Core CPI ขยายตัว 3.17%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนต.ค.65 อยู่ที่ 108.06 เพิ่มขึ้น 5.98% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.ย.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 6.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนต.ค.65 อยู่ที่ 103.78 เพิ่มขึ้น 3.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.05% จากเดือนก.ย.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI ต.ค.ขยายตัว 5.98% ส่วน Core CPI ขยายตัว 3.17%

"อัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค.นี้ เพิ่มขึ้น 5.98% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน และ สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง" นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร และไก่สด จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จึงทำให้ราคาปรับลดลง ขณะที่ผักสด ยังมีราคาสูงขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้แหล่งเพาะปลูกได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ราคาผักสดเริ่มมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการกำกับดูแลและควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง

โดยในเดือนต.ค.65 มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • สินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาสูงขึ้น มี 187 รายการ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น
  • สินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาลดลง มี 79 รายการ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า, ค่าพัสดุไปรษณีย์, โทรทัศน์ เป็นต้น
  • สินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาคงเดิม มี 164 รายการ ได้แก่ รองเท้ากีฬา, ค่าโดยสารรถไฟฟ้า, ค่าบริการจอดรถ เป็นต้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนก.ย.65) ยังคงอยู่ในระดับสูง และสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งประเทศในอาเซียน เช่น ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และประเทศสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี และอินเดีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อสูงอยู่ในลำดับที่ 107 จากทั้งหมด 135 ประเทศ ซึ่งถือว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.65 โดยคาดว่าจะชะลอตัวตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง และบางรายการราคาทรงตัว แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

"เงินเฟ้อเดือน พ.ย.มีแนวโน้มที่จะลดลง คาดว่าคงจะไม่ถึง 6% อยู่ในระดับใกล้เคียงนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานปีก่อน และมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ในการดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับต้นทุน ไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา และดูแลให้มีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ" นายพูนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ในกรอบ 5.5 - 6.5% (ค่ากลาง 6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ภายใต้ 3 สมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.7 - 3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 90 - 110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50 - 35.50 บาท/เหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ