น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลีย ว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นตัวแทนลงนามร่างบันทึกความเข้าใจในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปคและการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (SECA) นี้ จะช่วยสนับสนุนความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ความตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเชียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นภาคี รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในทุกมิติ โดยจะขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจอย่างน้อย 8 สาขา ดังนี้
1. สาขาเกษตร เทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ และอาหารแปรรูป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กฎระเบียบการนำเข้า และความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตร
2. สาขาการท่องเที่ยว
3. สาขาบริการสุขภาพ พัฒนามาตรฐานและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4. สาขาการศึกษา พัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งการพัฒนาหลักสูตร การประกันคุณภาพ และการฝึกอบรมผู้สอน โดยเน้นสาขา เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ และเหมืองแร่
5. สาขาการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความสำเร็จของโครงการต่างๆ ระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจ Digital Start-Up
6. สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง ทัศนศิลป์ (visual arts) ศิลปะการแสดง และวรรณกรรม
7. การลงทุนระหว่างกัน โดยส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจ
8. สาขาพลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน พัฒนาด้านพลังงานทดแทน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาพลังงานทดแทน
น.ส. รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ นอกจากจะช่วยสนับสนุนการนำปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลียไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ กับแผนปฏิบัติการระหว่างไทยกับออสเตรเลี่ยในด้านอื่นๆ ด้วย