นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มอบนโยบายดำเนินการต่อเนื่องตาม 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วน เข้มงวด กรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ให้ออกคำสั่งปรับปรุงแก้ไขทันที 2. มาตรการระยะกลาง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) และ 3. มาตรการระยะยาว ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ได้มอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายสู่การดำเนินการอย่างบูรณาการ และให้เน้นตรวจเชิงรุกด้านฝุ่นละอองโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรงงาน โดยหากพบการกระทำผิด จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที
ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานใน กรอ. ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม โดยให้ดำเนินการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการประกอบกิจการโรงงาน
นอกจากนี้ เมื่อกลางปี กรอ. ได้ออกกฎหมายให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ (CEMS) เพื่อติดตามข้อมูลการระบายมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และให้โรงงานส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลแสดงผลบนเว็บไซต์ของ กรอ. https://poms.diw.go.th และแอปพลิเคชัน POMS (Pollution Online Monitoring System) โดยประชาชนสามารถติดตามการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา และสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ Android และ iOS
"ได้กำชับผู้ประกอบการวางแผนการผลิต และควบคุมดูแลการประกอบกิจการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ต้องดูแลรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา" นายจุลพงษ์ กล่าว