สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนต.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 91.8 ในเดือนก.ย. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับปัจจัยสนับสนุน มาจากการที่ภาครัฐประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังภายหลังสถานการณ์ระบาดทั่วโลกคลี่คลายลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยว
ด้านการส่งออกประเทศคู่ค้าเริ่มสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า เพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการดูแลพลังงานของภาครัฐ รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบในเดือนนี้ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อคมนาคมและขนส่งสินค้า รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้าง นอกจากนี้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,310 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ในเดือนต.ค. 65 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน 63.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.7% ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 69.8% เศรษฐกิจในประเทศ 41.0% สถานการณ์การเมือง 38.0% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 33.4% และสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ 30.8% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวลดลง จาก 101.8 ในเดือนก.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่
1. เสนอให้ภาครัฐเตรียมแผนรับมือและป้องกันปัญหาอุทกภัย และน้ำแล้ง รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำ การบูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ตลอดจนออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100%
2. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง ท้ายปี 65 อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี 30,000 บาท โครงการคนละครึ่งเฟส 6 วงเงินขั้นต่ำ 3,000 บาท รวมทั้งเพิ่มจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็น 2 ล้านสิทธิ์ เป็นต้น
3. เสนอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 66 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รวมทั้งเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นฯ เดือนนี้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากหลังจากการประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เศรษฐกิจในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ การบริโภคในประเทศดีขึ้นเรื่อยๆ การท่องเที่ยวดีขึ้นติดต่อ 4-5 เดือน แต่การใช้จ่ายต่อหัวลดลง จากเดิมในปี 62 อยู่ที่ 43,000 บาท/คน เหลือ 33,000 บาท/คน ในปีนี้ แต่จะมีประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และความเชื่อมั่นที่ยังน่ากังวล
ส่วนเรื่องค่า Ft อยากให้รัฐมีการทบทวนหนึ่งในตัวแปรของสูตรคำนวณ คือ เรื่องการสำรองพลังงาน จากในอดีตที่สำรองอยู่ที่ 30% ปัจจุบันสำรอง 51% ซึ่งตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วควรอยู่ที่เท่าไร จึงจะมีความเหมาะสมกับทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน เอกชน และภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ต้องมีการทบทวนจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรัฐต้องเป็นตัวนำ
"ไม่ได้ให้ปรับสูตรค่า FT แต่ปรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสูตรการคำนวณ เนื่องจากบางการผลิต ไม่ได้ผลิต แต่ก็ต้องจ่ายค่าสำรองพลังงาน ขณะเดียวกัน ค่าไฟฟ้าที่ 4.72 บาทต่อหน่วยงวดนั้น น่าจะถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนแล้ว" นายมนตรี ระบุ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่ามาตรการต่างๆ ที่ใช้มาตั้งแต่อดีต มีประสิทธิผลพอสมควรในช่วงแรกๆ ของมาตรการ แต่เมื่อมีการทำหลายๆ เฟส จำนวนเงินและจำนวนสิทธิเริ่มลดลง ซึ่งลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอยากให้รัฐกลับไปทบทวนเครื่องมือเดิม ว่าควรจะเป็นจำนวนเงินและจำนวนสิทธิแบบช่วงแรก เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
นายมนตรี กล่าวว่า ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุชัดเจนว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่จำเป็นต้องปรับตามสหรัฐฯ เพราะโครงสร้างของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้น คงไม่ได้ปรับระดับเดียวกัน แต่ก็ต้องมีการปรับ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธนาคารพาณิชย์
"ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารพาณิชย์เช่นกัน ซึ่งก็ไม่ได้มีการขึ้นทั้งกระดาน แต่จะดูศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละราย ว่าใครพอจะแบกรับต้นทุนได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มทยอยพูดคุยทีละราย โดยใช้ดุลยพินิจว่าใครสามารถช่วยได้ โดยภาพรวมเรื่องอัตราดอกเบี้ย ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของไทย" รองประธาน ส.อ.ท.ระบุ
ด้าน นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. กล่าวว่า การสำรองพลังงานจาก 30% เป็น 51% มองว่ามากเกินไป ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่การทำระบบโซลาร์ฟาร์ม (Solar farm) และการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) การไฟฟ้ายังไม่รับซื้อไฟที่เหลือใช้ ซึ่งมองว่าการรับซื้อไฟนั้น รัฐบาลไม่ต้องลงทุน แต่ให้ภาคเอกชนลงทุน และการไฟฟ้าก็มีรายได้เพิ่มด้วยซ้ำ
ส่วนเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ที่ประชาชนต้องประสบภัยหลายจังหวัดและเป็นระยะเวลานาน อยากให้รัฐเข้ามาช่วยชดเชยในกรณีพิเศษ เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ก็ควรได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน เนื่องจากบางอุตสาหกรรมไม่ได้ประกันภัยน้ำท่วม โดยควรช่วยเหลือทั้งการลดหย่อนภาษี และการฟื้นฟูต่างๆ
ในส่วนของเศรษฐกิจ ยังต้องมีมาตรการกระตุ้นต่อไป ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจภายในประเทศไม่มีทางฟื้น ปีหน้าถ้าการส่งออกมีปัญหาก็ต้องพึ่งพาภายในประเทศ ดังนั้น ถ้าระดับรากหญ้าไม่มีการใช้จ่าย เศรษฐกิจจะเติบโตได้ลำบากเป็น 2 เท่า ส่วนเรื่องท่องเที่ยว ขณะนี้ยุโรปและสหรัฐฯ เศรษฐกิจมีปัญหา ดังนั้นยังไม่มั่นใจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาไทยได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
นายกฤษณ์ อิ่มแสง เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ในปีหน้าภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมตัวรับมือเรื่องราคาพลังงานที่ยังคงสูง ถึงแม้ว่าราคาต้นทุนในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นทางของเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานเริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่วิกฤติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงมีต่อเนื่อง จะส่งผลในเชิงจิตวิทยา ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงมีความจำเป็นต้องเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน เนื่องจากราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 10% ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องประหยัดพลังงานให้ได้ 10% เพื่อสวนทางกับราคาพลังงาน และทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมมีสมรรถนะ (efficiency) สูงสุด
"ขณะนี้ภาครัฐ กระทรวงพลังงานได้ออกโปรแกรมสร้างบรรยากาศการผลิตที่ต้องใช้พลังงานต่ำ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมรับทราบแล้ว รัฐให้การสนับสนุน แต่ภาคอุตสาหกรรมต้องเอาตัวรอดด้วยตนเอง เชื่อว่ารัฐไม่ได้บังคับ แต่อาศัยความร่วมมือ และมีโปรโมชันให้คนที่ประหยัดได้เยอะ และลดหลั่นลงมา" นายกฤษณ์ กล่าว
ในส่วนของภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งเรื่องผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ หรือสภาวะต่างๆ ในแง่ของผลการประชุมเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคการบริโภคทั่วโลกได้ ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ล่าสุดมีแนวโน้มทรงตัว ราคาต่ำลงกว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากก่อนหน้านี้ที่ทรงตัวอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
"ปีหน้าถ้าทำได้ จำลองอนาคตแบบพื้นฐาน (baseline scenario) ถ้าการส่งออกหดตัวแบบสูงสุด กรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case) เป็นประเด็นที่อยากให้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมตัวว่าถ้าเรามีความจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดในประเทศ เราจะอยู่รอดอย่างไร เป็นกระบวนการในการรัน scenario ถ้ามีการส่งออก คือการเติม (top up) ให้ภาคอุตสาหกรรมที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ดียิ่งขึ้น จะเป็นการเตรียมตัวทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขายที่ต้องรักษาลูกค้าเดิม ฝ่ายผลิตที่ต้องสร้างประสิทธิภาพในการผลิต ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตัว และแสวงหาสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ โดยเฉพาะ 12 S-curve" นายกฤษณ์ กล่าว