นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนต.ค. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 24-28 ต.ค. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 43.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 42.5 ในเดือนก.ย. 65
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 42.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 41.5
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 44.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 43.5
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 46.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 46.0
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 42.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 42.3
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 42.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 42.1
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 41.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 40.6
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ต.ค. 65 มีดังนี้
- ปัจจัยบวก ได้แก่
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน
2. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานมีอำนาจซื้อมากขึ้น
3. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass พร้อมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ ตลอดจนมาตรการการใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นโดยความสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ
4. จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
5. การส่งออกของไทยเดือน ก.ย. 65 ขยายตัว 7.83% มูลค่าอยู่ที่ 24,919.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 24.67% มีมูลค่าอยู่ที่ 25,772.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 853.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6. SET Index เดือน ต.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.25 จุด จาก 1,589.51 ณ สิ้นเดือนก.ย. 65 เป็น 1,608.76 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65
7. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
- ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
2. สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน
3. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10 ) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 (E10 )ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.20 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
4. ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของประเทศไทย ที่ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจ
5. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65
6. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 37.044 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 65 เป็น 37.920 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65
7. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวัน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
8. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา คือ
- มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด
- มาตรการดูแลต้นทุนของปัจจัยการผลิตของธุรกิจ
- รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า
- มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะทางด้านการตลาด และมาตรฐานการผลิต รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ
- ควรจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ โดยปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้
- มาตรการรองรับและการจัดการระบบ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศในช่วงปลายปี
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ พบว่า ภาคธุรกิจในภาพรวมเกือบทุกภาคต่างเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ย. และต.ค. โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง และรายใหญ่ แต่เหตุที่ดัชนียังไม่ทะลุระดับ 50 เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ตลอดจนเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
"ผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มมองเศรษฐกิจในเชิงบวก โดยเกือบทุกภาคตอบสนองเชิงบวกในด้านการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบัน และอนาคต...โดยมองว่า sector ที่ปรับตัวดีขึ้น คือ การท่องเที่ยว การผลิตเพื่อการส่งออก พืชผลเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ ยังอาจเป็นในลักษณะของ K shape โดยภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่จะเริ่มรับรู้ถึงการฟื้นตัวได้ก่อนธุรกิจรายเล็ก และประชาชน อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจจะยังไม่ดีขึ้นในทุก sector แต่ในภาพรวมแล้วก็มีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ซึ่งเชื่อว่าในช่วงนี้สถานการณ์อุทกภัยได้เริ่มคลี่คลายแล้ว ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยมากขึ้น เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจะทำให้มุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจต่อเศรษฐกิจไทยยังเป็นภาพในเชิงบวก