นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผลศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ชีวมวลจากปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ทั้งนี้ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และ ชลบุรี จากการสัมภาษณ์เจ้าของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแบบแยกเมล็ดใน (โรง A) จำนวน 24 โรง โรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 8 โรง และเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวม 145 ราย รวมทั้งจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับศักยภาพการนำชีวมวลจากปาล์มน้ำมันผลิตไฟฟ้า และความเหมาะสมของโครงการที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล
โดยผลการศึกษา พบว่า ศักยภาพชีวมวลปาล์มน้ำมันในแต่ละชนิด ได้แก่ เมล็ดในปาล์มให้ค่าพลังงานความร้อนมากที่สุดที่ 1.959 ล้านเมกะจูล รองลงมาคือ เส้นใยปาล์ม 1.500 ล้านเมกะจูล ทะลายเปล่า 1.370 ล้านเมกะจูล กะลาปาล์ม 1.149 ล้านเมกะจูล กากเมล็ดในปาล์ม 0.568 ล้านเมกะจูล ลำต้นปาล์ม 0.116 ล้านเมกะจูล และทางใบปาล์ม 0.040 ล้านเมกะจูล ตามลำดับ
ปัจจุบันโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีการใช้ประโยชน์จากชีวมวลปาล์มน้ำมัน คือจากทะลายเปล่า และเส้นใยปาล์มโดยสัดส่วนการใช้ทะลายเปล่า แบ่งเป็น 75% ขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล และอีก 25% โรงงานสกัดฯ นำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ส่วนเส้นใยปาล์ม 90% นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน และอีก 10% ขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลจะรับซื้อทะลายเปล่าที่ราคาเฉลี่ย 0.30 บาทต่อกิโลกรัม และเส้นใยปาล์มที่ราคาเฉลี่ย 0.90 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ ทะลายเปล่าเป็นวัตถุดิบหลักเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะมีราคาถูกและให้ความร้อนได้ดีเหมาะแก่การนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม แม้เมล็ดในปาล์มจะให้ค่าพลังงานความร้อนมากที่สุดแต่ไม่นิยมนำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีราคาสูง 25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนใหญ่จะนำไปจำหน่ายเพื่อสกัดเป็นน้ำมันเมล็ดในแทน
ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ส่วนของทางใบปาล์มและลำต้นปาล์ม หากเกษตรกรนำออกจากสวนเพื่อไปขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเก็บรวบรวม และค่าขนส่ง เป็นต้น จึงไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการดังกล่าว ดังนั้นเกษตรกรควรมีการใช้ประโยชน์จากทางใบปาล์มและลำต้นปาล์มมาทำเป็นปุ๋ยแทน เพราะจะสามารถช่วยลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยจากทางใบปาล์มได้ถึง 2,389 บาทต่อไร่ และหากใช้ลำต้นปาล์มจะสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้มากถึง 6,873 บาทต่อไร่ ซึ่งทางใบปาล์มและลำต้นปาล์มมีธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทะลายปาล์ม
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินในการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจากทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน พบว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุน 14.16% และสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 4 เดือน
ทั้งนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรในการผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้และสนับสนุนการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ควรมีหน่วยงานให้บริการในรูปแบบ One Stop Service เพื่อลดความซับซ้อนและขั้นตอนในการดำเนินการ มีการส่งเสริมระบบการขนส่งโลจิสติกส์การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบชีวมวลเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยตั้งจุดรับซื้อเพื่อรวบรวมวัตถุดิบเพื่อให้ได้ตามปริมาณเพียงพอ และง่ายต่อการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำสัญญาร่วมกันระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานได้อย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน รวมทั้งคำนึงถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบำบัดน้ำเสียด้วย และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดการสวนโดยใช้ทางใบปาล์มในการคลุมดิน เพื่อเป็นปุ๋ยมากยิ่งขึ้น