นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เงินบาทขณะนี้หรือในช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่ผันผวนมากเมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาที่มีความผันผวนมากหรือขึ้นเร็ว โดยสถานการณ์เงินบาทในปี 65 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกับค่าเงินบาทที่ถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างสูง และมองว่ารัฐบาลยังไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามารักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท
"การที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าบ้าง ก็เป็นทิศทางที่ทุกคนมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เหมือนตอนที่เงินบาททะลุ 38 บาท/ดอลลาร์ ที่มีเสียงความกังวลว่าถ้ายังไม่หยุดที่ 38 บาท/ดอลลาร์ ต้นทุนการนำเข้าของประเทศ ทั้งพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities price) อาจทำให้ไทยต้องนำเข้าแพงขึ้น ต้นทุนภาคธุรกิจแพงขึ้น ค่าไฟก็แพง เพราะพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเยอะ ดังนั้น การที่เงินบาทลงมา ก็เป็นทิศทางที่ทุกคนโอเค" นายพชรพจน์ กล่าว
สำหรับผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และเงินบาทแข็งค่านั้น นายพชรพจน์ มองว่า เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากผลการเลือกตั้งดังกล่าวที่ออกมา ไม่ได้ชนะแบบขาดลอย และไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (significant change) ต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก
ทั้งนี้ มองว่าข่าวจากฝั่งสหรัฐฯ ยืนยันสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ครั้งต่อไปจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% แล้ว แต่จะปรับขึ้นที่ 0.50% หรือ 0.25% ดังนั้น การที่ดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่ามากเหมือนเดิม ก็เป็นการยืนยันแนวโน้มในส่วนนี้
"มองว่ายังเร็วเกินไป ที่จะบอกว่าเงินบาทกลับมามีทิศทางแข็งค่าแล้ว จะเห็นได้จากตลาดการเงินในสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ที่ลดลงไปค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงไม่ได้วางใจว่าค่าเงินบาทจะกลับไปต่ำกว่า 37 บาท/ดอลลาร์แล้วในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้" นายพชรพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังดำเนินต่อไป ยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อค่าเงินบาทให้ไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้มากนัก โดยอย่างน้อยก็ส่งผลกระทบต่อราคานำเข้าน้ำมันแพง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันหลายเดือน ทั้งนี้ ถ้าความขัดแย้งยังไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น หมายความว่าดุลบัญชีเดินสะพัดก็อาจยังขาดดุล หรือเกินดุลได้ไม่มาก ถึงแม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาก็ตาม
สำหรับการท่องเที่ยว ถ้านักเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณเดือนละ 1 ล้านคน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 4-5 หมื่นบาท จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ไทยไม่มีรายได้จากส่วนนี้เลย ดังนั้น ถ้าในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ นักท่องเที่ยวเข้ามาอาจสร้างรายได้ถึง 1-2 แสนล้านบาท ก็จะเป็นเม็ดเงินที่ช่วยเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด และเรื่องค่าเงินบาทได้
ขณะเดียวกัน ถ้าประเทศจีนที่เป็นผู้บริโภคหลักเปิดประเทศ มีการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เศรษฐกิจจีนจะเริ่มกระเตื้องขึ้น จะเป็น sentiment เชิงบวกสำหรับทั่วภูมิภาค โดยถ้าค่าเงินหยวนฟื้น ค่าเงินบาทก็จะฟื้นไปด้วย นอกจากนี้ ถ้าจีนเปิดประเทศ ก็จะเริ่มคาดการณ์กันว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อไร หรือเท่าไร เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนมีพฤติกรรมการเดินทางทั้งปี ไม่ได้เข้ามาเฉพาะช่วงไฮซีซันเท่านั้น
"นักท่องเที่ยวจีนอาจเข้ามาในไตรมาส 1 หรือ 2 ก็ได้ ไม่เหมือนนักท่องเที่ยวยุโรปที่ต้องลุ้นว่าต้องให้ทันเดือนม.ค.-ก.พ. ดังนั้น ถ้าจีนมีการเปิดประเทศจริง การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ ก็จะส่งเสริมค่าเงินบาทอีกทางหนึ่ง มองว่าปัจจัยจากจีนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทิศทางค่าเงิน" นายพชรพจน์ กล่าว
ส่วนปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย (recession) มองว่าเป็นประเด็นรองที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท เนื่องจากถ้าเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้ส่งออกอาจเติบโตได้ไม่มาก ซึ่งจากประมาณการส่งออกของหลายสำนัก ส่วนใหญ่ยังประมาณการว่าการส่งออกปี 66 จะโตได้ 1-2% หรือไม่ได้แย่กว่าปี 65 ดังนั้น การส่งออกมีการชะลอตัวลง แต่ไม่ได้กลับไปติดลบหรือมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ และเงินไหลเข้าของการส่งออกไม่ได้ลดลง
ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาพลังงาน อาจยังสูงอยู่ที่ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ก็มีโอกาสที่ราคาจะต่ำกว่าระดับดังกล่าวได้ ดังนั้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าไทยอาจถูกลง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวที่ช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง
นายพชรพจน์ มองแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า จะอยู่ในกรอบประมาณ 37 บาท/ดอลลาร์ บวกลบเล็กน้อย โดยไม่ได้มองว่าหลังจากนี้จะเป็นจุดที่ดอลลาร์จะเริ่มอ่อนค่า และเงินบาทแข็งค่าแบบชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่านักลงทุนจะนำเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จำนวนมาก ส่วนกลางปี 66 มองว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ โดยมีทิศทางแข็งค่า แต่ไม่เร็ว
ในเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทนั้น มองว่าปีหน้าความผันผวนจะน้อยกว่าปีนี้ เพราะปีนี้เงินบาทอ่อนขึ้นมาจากช่วงต้นปีที่อยู่ที่ประมาณ 32-33 บาท/ดอลลาร์ โดยอ่อนค่ามาถึง 38 บาท/ดอลลาร์ หรือพุ่งขึ้นถึง 6-7 บาท/ดอลลาร์ ซี่งมองว่าปีหน้าจะไม่เห็นการพุ่งขึ้นของค่าเงินบาทเหมือนปีนี้
"ปีหน้า เงินบาทอาจอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์ หรืออาจลงไปที่ 36 หรือ 35 มองว่าแกว่งจากวันนี้ ขาลงไม่น่าเกิน 2 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถ้าเทียบกับปี 65 ที่ขึ้นมา 6-7 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าคนละ scale กัน" นายพชรพจน์ กล่าว