ศูนย์วิจัยกสิกรฯมองราคาข้าวพุ่งต่อเนื่องดันเงินเฟ้อสูงกว่าคาดขวางGDPโต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2008 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากการประเมินผลกระทบของทิศทางราคาข้าวต่อภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค พบว่าในกรณีที่ราคาข้าวในประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้นไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า แม้ว่าจะไม่สูงไปจนถึงระดับราคาที่ส่งออก ประกอบกับมีผลของแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ก็คาดว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศโดยเฉลี่ยในปีนี้จะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 40-60 เมื่อเทียบกับปีก่อน 
ราคาข้าวที่สูงขึ้นเกินความคาดหมายนี้จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีก 0.6-1.0% จากกรอบประมาณการเดิม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 นี้ขึ้นไปเป็น 4.0-5.5% โดยมีค่ากลางที่ 4.8% จากประมาณการเงินเฟ้อเดิมอยู่ที่ 3.5-4.5% ซึ่งช่วงประมาณการที่กว้างนี้สะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่อาจปรับตัวสูงกว่าที่คาด
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน มี.ค.2551 อยู่ที่ 5.3% ใกล้เคียงกับ 5.4% ในเดือน ก.พ.2551(ที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.0% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2549
และหากมองสถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้จะเห็นได้ว่ายังมีปัจจัยกระทบจากหลายด้านที่อาจส่งผลกดดันต่อภาวะค่าครองชีพ จนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าไม่สามารถชะลอตัวได้มากดังที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2551 มีโอกาสที่จะโน้มเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการเดิมของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 3.5-4.5%
"แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัจจัยนอกเหนือความคาดหมายหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติราคาสินค้าพลังงานและอาหารที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ องค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก(World Bank) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) ได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญกับภาวะราคาอาหารที่แพงต่อไปอีกในตลอดทศวรรษจากนี้ อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ ภาวะโลกร้อน และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจนทำให้มีความต้องการนำพืชผลทางการเกษตรมาใช้เพื่อผลิตพลังงานทดแทน" เอกสารระบุ
แรงกดดันเงินเฟ้ออาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้ ดังนั้น ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นในขณะนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รอคอยการแก้ไข
ทั้งนี้ ในภาวะที่ปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นเนื่องมาจากปัจจัยด้านอุปทานดังเช่นในขณะนี้ หนทางออกที่ดีที่สุดควรเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยในเรื่องปัญหาราคาข้าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหาแนวทางในการดูแลระดับราคา ความสมดุลของกลไกอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการบริหารนโยบายการส่งออกข้าวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด
ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นในขณะนี้นับเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน ที่รอคอยให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข สถานการณ์ราคาข้าวและราคาสินค้าต่างๆทั่วโลกในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติ หากแต่เป็นผลที่โยงใยมาจากปัญหาวิกฤติพลังงานและปัญหาการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ และยิ่งประสบกับช่วงจังหวะที่เกิดการขาดแคลนอุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ การบริหารจัดการกับปัญหาราคาสินค้าในขณะนี้จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะในด้านราคาข้าว ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่ดูแลทั้งเรื่องราคาสินค้าภายในประเทศ และการบริหารนโยบายการส่งออก ควรมีการวางแนวทางบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและสมดุล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ