ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน(KR-ECI) ในเดือนต.ค.65 ยังคงทรงตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนต.ค.65 แม้ดัชนีเงินเฟ้อได้ปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แต่ความกังวลของครัวเรือนเกี่ยวกับระดับราคาสินค้ายังคงอยู่ ประกอบกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างจากเดือนก่อนสร้างความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และการจ้างงาน ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ทรงตัวอยู่ที่ 33.8 อย่างไรก็ดี ดัชนีKR-ECI ใน 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 35.7 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงาน หลังภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องจากในเดือนก.ย.65 พบว่า มีครัวเรือนร้อยละ 64.3 ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมมากกว่า 5,000 บาท เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในเดือนก.ย. ที่ร้อยละ 19.2 ทั้งนี้ ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร นอกจากนี้ ครัวเรือน 43% ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นสูงกว่ารายได้ต่อเดือน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการออมและภาระหนี้
ในระยะข้างหน้าการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยแม้ภาครัฐได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือน เช่น การตรึงค่าไฟ เป็นต้น แต่ราคาพลังงานที่ยังคงมีความผันผวนอาจส่งผลต่อขีดจำกัดของมาตรการอุดหนุนภาครัฐในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ผลกระทบที่ครัวเรือนได้รับจากสถานการณ์น้ำท่วมอาจกระทบต่อค่าใช้จ่าย รายได้และการจ้างงาน รวมถึงเงินออมในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยก็อาจช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนได้ ทั้งนี้ คงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือนพ.ย. นี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น