นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดการเงินโลกเริ่มชะลอตัวว่า หลายประเทศเริ่มมีสัญญาณสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยยสำคัญในหลายภูมิภาค ตลาดการเงินและเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ความวิตกกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยคลายตัว และคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7-2.8% อัตราการขยายตัวของการค้าโลกอยู่ที่ระดับ 2.5-2.6% แม้จะเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าของโลกที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ.2553-2562 แต่ก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกไม่ได้เผชิญภาวะถดถอยใดๆ แต่อาจจะมีบางประเทศเท่านั้นที่ประสบภาวะถดถอยในปีหน้า ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนเบาบางลง สงครามไม่ขยายวงกว้างแต่อาจยืดเยื้อต่อไป
การเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลในปีหน้า กระแสเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในอาเซียนและไทย ทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงิน จะทำให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าค่อนข้างเร็วและแรงกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้เดิม เงินบาทจะทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 โดยคาดว่าค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 34.50-36.50 บาท/ดอลลาร์ในปี 2566 โดยอาจจะมีบางช่วงที่เห็นเงินบาททดสอบระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ได้ กระแสเงินระยะสั้นไหลเข้าตลาดหุ้นพร้อมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยภาพรวมที่ดี และราคายังไม่แพงนัก ทำให้ตลาดหุ้นในอาเซียนและไทยมีปัจจัยที่ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาตินอกภูมิภาค คาดว่าอาจได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นทดสอบ 1,680-1,700 ในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าได้
หาก ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปลายเดือนนี้มากกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มอีก 0.25% จะส่งผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่มีนัยยะสำคัญต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น ไม่มีผลต่อตลาดหุ้นโดยภาพรวมมากนัก แต่จะกระตุ้นให้หุ้นในกลุ่มธนาคาร การเงินและประกันน่าสนใจมากขึ้น อาจทำให้หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และบริษัทที่มีโครงสร้างทางการเงินที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมีความน่าสนใจน้อยลง
การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเสริมด้วยกับการที่ระบบธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม FIDF สูงขึ้น จากระดับ 0.23% เป็น 0.46% การที่ระบบธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการดำเนินการสูงขึ้น ธปท.และกระทรวงการคลังเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวและต้องการให้ประเทศสามารถชำระหนี้สินกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน FIDF ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะให้หมดภายในปี พ.ศ.2575 ขณะที่กองทุน FIDF มีหนี้คงค้างจำนวน 672,614 ล้านบาท และจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายในช่วงงบประมาณปี 66-75 ประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท การเรียกเก็บเงินนำส่งเพื่อจ่ายหนี้กองทุน FIDF เพิ่มจะให้สามารถหนี้ให้เสร็จสิ้นได้ภายในสิบปีข้างหน้า ช่วงก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ปรับลดภาระหนี้ FIDF ลงให้กับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้ประมาณ 0.50% ต่อปี เมื่อมีการปรับเพิ่มภาระการจ่ายหนี้ FIDF ก็คาดว่า ดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มอีกอย่างน้อย 0.50-1% จากระดับดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว คาดการณ์ได้ว่า ธนาคารพาณิชย์จะต้องพลักภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมหนี้ FIDF มายังลูกค้าธนาคารหรือลูกหนี้ ทั้งในรูปค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงอาจได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ในช่วงสองสามปีข้างหน้า นโยบายการส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นและการเปิดเสรีมากขึ้นในภาคการเงินจึงมีความสำคัญต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งในมิติการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม