นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของประเทศไทยในสัปดาห์นี้ ซึ่งภาคเอกชนได้มีการประชุมและจัดการสัมมนาที่สำคัญเช่นเดียวกันกับภาครัฐ โดยงานใหญ่ของฝั่งภาคเอกชน ที่ กกร. เป็นเจ้าภาพ คือ การประชุม APEC CEO Summit ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 65 เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญผู้นำ และบุคคลสำคัญระดับโลก ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับจากผู้นำเป็นจำนวนมาก โดยเป้าหมายหลักในการจัดงานครั้งนี้ คือ การส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ
สำหรับโอกาสของคนไทยและเศรษฐกิจไทยนั้น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 จะช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
นอกจากนั้น ยังจะช่วยเปิดโอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ให้แก่ผู้ประกอบการ และคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวของผู้นำ บุคคลสำคัญ รวมทั้งซีอีโอ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับโลก ที่ได้รับการเรียนเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางธุรกิจในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลก
"นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยและคนไทยทุกคน ที่จะได้รับรู้และรับทราบการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เนื่องจาก APEC คือเขตเศรษฐกิจที่มี GDP รวมกันไม่ต่ำกว่า 60% เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น เวทีนี้จึงมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างมาก" นายสนั่น ระบุ
นอกจากงาน APEC CEO SUMMIT ยังมีเวทีสำคัญของ กกร. ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งประกอบด้วย การประชุม APEC Business Advisory Council - ABAC ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ซึ่งปัจจุบัน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ในปีนี้ โดย ABAC ถือเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนภาคธุรกิจที่ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการดำเนินงานส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งหลังการประชุมในเวทีนี้จะมีการนำเสนอประเด็นของ ABAC ต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 เขตเศรษฐกิจ ในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้
นายสนั่น มองว่า การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่เวียนมาในรอบ 20 ปี จะทำให้นานาชาติกลับมา Focus ที่ประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเราต้องใช้โอกาสนี้ในการขยายการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดทำและผลักดัน FTAAP กับประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นการนำเสนอศักยภาพของประเทศไทย ให้นานาชาติได้เห็นถึงความพร้อมในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งในระยะถัดไปจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการทำให้ต่างชาติเข้าใจ BCG Model ที่เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสอดคล้องกับ COP27 และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
การจัดการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทย เพราะจะเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจ และ 3 ประเทศ ที่เป็นแขกพิเศษของรัฐบาล คือ ซาอุดิอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบียจะนำคณะภาครัฐและเอกชนของซาอุฯกว่า 600 คนเยือนไทย โดยมีกำหนดการพบกับนายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 18 พ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล ไฮไลท์สำคัญจะมีการลงนาม MOU 2 ฉบับสำคัญ ในความร่วมมือด้านการลงทุน และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลนีและนวัตกรรม รวมถึงการจะมีเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนไทย เพื่อผลักดันการลงทุนร่วมไทย-ซาอุฯ ซึ่งหอการค้าไทยเชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นการเปิดโอกาส ไม่ใช่เฉพาะกรอบพหุภาคี APEC หรือ ASEAN แต่ระหว่างทวิภาคีก็มีโอกาสเช่นกัน
ส่วนฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครงประธานาธิบดี จะได้มีการหารือของนายกรัฐมนตรีไทย ถึงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาไทย-ฝรั่งเศส เฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและและพัฒนายางพารา รวมถึงการขยายการลงทุนของมิชลินหนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ในไทย และรัฐบาลไทยได้เชิญสมเด็จฮุน เซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นแขกพิเศษของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะภูมิภาคที่มีโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแม้ว่ากัมพูชาจะไม่อยู่ในสมาชิกเอเปค แต่ในปีนี้กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน จะเป็นโอกาสที่ได้ร่วมกันแสดงบทบาท และดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิกด้วย
นอกจากนี้ การตอบรับคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน ซึ่งครบรอบ 10 ปี ในปีนี้ เพื่อนำไปสู่โอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปี 2568 และจะมีการหารือเพื่อเร่งรัดแผนงานต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมแผน belt and road initiative ของจีน กับพื้นที่ EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วขึ้น อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ความยั่งยืนที่ประเทศไทยชูเรื่อง แนวคิด Bio-Circular-Green Economy Model (BCG) ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม นำทรัพยากรชีวภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แก่การนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (sustainable)
ทั้งนี้ จากการสำรวจก่อนการประชุมนั้น พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แม้ว่าจะมีการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน แต่หลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดและการขยายผลของ BCG ซึ่งโอกาสนี้จะได้เป็นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและผู้ประกอบการสามารถเข้าใจในแนวคิดการนำ BCG ไปปรับใช้ เช่น การนำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปรับปรุง เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพสูง ขายได้ราคาดีในตลาดโลก เช่น ข้าวไรส์เบอรี่ หรือ การนำสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจรมาผลิตสเปรย์ฉีดพ่นในปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการนำเอาแนวทาง BCG มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับมูลค่า และภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป นายสนั่น กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ หอการค้าไทย ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยการจัด APEC CEO SUMMIT ได้เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาว หรือที่เรียกว่า YEC จากทุกจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้งานด้านการต่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคนรุ่นใหม่หล่านี้จะเกิดความภาคภูมิใจ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดต่อไป "ภาพรวมการจัดเอเปคของไทยในปีนี้ หอการค้าไทย คาดว่า จะมีแขกที่เข้าร่วมของภาครัฐ และการจัดงานของเอกชนรวมผู้ติดตามแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คน คาดจะเกิดเงินหมุนเวียนโดยตรงในระบบทันทีประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท และจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ จะมีการออกข่าวและประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปทั่วโลก จะมีผลต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย ทั้งในแง่การค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนจากนานาชาติ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้ต่างชาติได้เห็น ประเมินผลทางอ้อมหลังจบงาน จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยร่วม 20,000 ล้านบาท" นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ยืนยันอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมงาน เช่น นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, นายแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, นายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม, นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส ประธานาธิบดีเปรู และนายกาบริเอล โบริช ฟอนต์ ประธานาธิบดีชิลี