นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานในการตอบสนองต่อพฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มหรูหรามีระดับ (Luxury Tourists) ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มดังกล่าวถือเป็นตลาดสำคัญที่มีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า ความหมาย และแตกต่างอย่างประใจ ทั้งยังช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการยกระดับสินค้าและบริการด้วยการเพิ่มมูลค่าที่จะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ที่จะเข้าประเทศมากขึ้น ในอนาคตด้วย
บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ในฐานะองค์กรที่มีศักยภาพและมีพันธกิจหลักในการดูแลนักท่องเที่ยวกลุ่ม Luxury ของไทย จึงพร้อมจับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไปพร้อมกัน โดยมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยวไทยที่ประทับใจที่สุด ดื่มด่ำกับเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม และคนไทยที่มีมิตรไมตรี ซึมซับความสุขในการพักผ่อนผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายตอบโจทย์ในทุกสไตล์การเดินทาง และทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางกลับมาอีกครั้ง (Revisit)
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจฯ ได้กำหนดกลยุทธ์ GRACE เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว พร้อมกันนี้ คาดว่ากลยุทธ์ GRACE จะช่วยยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวไทย ตลอดจนช่วยผลักดันเป้าหมายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปี 66 ให้กลับมาในอัตรา 80% ของปี 62 ภายใต้สถานการณ์ท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) รายได้รวมอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ GRACE มีรายละเอียด ดังนี้
G = Grace ความสง่างาม เน้นความเป็นไทย เผยแพร่เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมไทยอันดีงาม บอกเล่าประวัติศาสตร์อันยาวนาน และสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเชิดชูคนไทยในฐานะฮีโร่คนสำคัญที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Luxury ต้องการเดินทางมายังประเทศไทย
R = Relationship การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นการสานความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวในระยะยาว ผ่านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่บริษัทฯ จะมอบให้กับสมาชิก รวมถึงสนับสนุนการเป็นคู่คิดด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวทั่วไป เช่น การลงทุน และเสริมสร้างสุขภาพ
A = Assistance การดูแลช่วยเหลือทุกที่ทุกเวลา เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว เพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ บริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นมากกว่าแค่เพียงธุรกิจการให้บริการทั่วไป ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้การท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นเรื่องง่าย ให้ความช่วยเหลือและสามารถพึ่งพาได้อยู่ตลอดเวลา
C = Companion ความเป็นมิตรไมตรี ดูแลนักท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต ยืดหยุ่นในความเป็นไทยที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม อัธยาศัยดี และเอาใจใส่ รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลสมาชิกให้มีประสิทธิภาพ รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับความต้องการของสมาชิกรายบุคคลมากยิ่งขึ้น
E = Exclusivity ความพิเศษ มอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่พิเศษและดีเยี่ยม เหนือความคาดหวังให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยน่าประทับใจ และ amazing ยิ่งกว่าเดิม
ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวว่า ในปีหน้าประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน แต่มีตลาดกลุ่มหนึ่งแม้เศรษฐกิจจะเป็นเช่นไรก็ไม่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่ม Luxury ซึ่งบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ตั้งเป้าเจาะตลาดการท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่ม Luxury เพื่อดันเป้ารายได้ปี 66 ที่ 2.38 ล้านล้านบาท
"ในปี 2573 ตลาดการท่องเที่ยวแบบหรูหราจะมีมูลค่ามากกว่า 8,200 ล้านเหรียญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 2 เท่า โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือเศรษฐีเกิดใหม่" นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ ประเทศไทยจะไม่มีคำว่า "ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด" (Thailand Elite Card) แล้ว จะรีแบรนด์เป็น "Thailand Privilege" โดยตั้งเป้าเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.65-ปี 66 ไว้ที่ 10,000 ใบ