(เพิ่มเติม) ABAC พร้อมส่งมอบข้อเสนอภาคธุรกิจต่อผู้นำเอเปค หวังสร้างกลยุทธ์เร่งศก.ฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2022 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ABAC พร้อมส่งมอบข้อเสนอภาคธุรกิจต่อผู้นำเอเปค หวังสร้างกลยุทธ์เร่งศก.ฟื้นตัว

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ภายใต้แนวทาง "Embrace, Engage, Enable" พร้อมส่งมอบข้อเสนอแนะ และแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแก่ภาคนโยบายผ่านเวทีการประชุมเอเปค 2022 โดยพร้อมกันนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก PwC ในฐานะ ?พันธมิตรด้านองค์ความรู้? ของงาน APEC CEO Summit 2022 ในการส่งมอบรายงานทางธุรกิจ (Thought Leadership) แก่ภาคธุรกิจ ทิศทางสำคัญต่อการขับเคลื่อนและก้าวข้ามความท้าทายของการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนในอนาคตอันใกล้

(เพิ่มเติม) ABAC พร้อมส่งมอบข้อเสนอภาคธุรกิจต่อผู้นำเอเปค หวังสร้างกลยุทธ์เร่งศก.ฟื้นตัว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 (ABAC) กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เผชิญภาวะการหยุดชะงักครั้งใหญ่ ไม่ว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด ความท้าทายด้านสงคราม วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร วิกฤตพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ การส่งมอบข้อแนะนำจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC 2022) ภายใต้แนวทาง "Embrace, Engage, Enable" ในปีนี้ จึงนับเป็นมิติใหม่ทางสถานการณ์โลก ที่จะเป็นการเปิดรับโอกาส (Embrace), การสอดประสานความร่วมมือ (Engage) และการร่วมผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ (Enable) โดยมีเป้าหมายของการสนับสนุนการเร่งการฟื้นตัว และการกลับมาสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งเป็นประการสำคัญ

คำแนะนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในปีนี้ รวบรวมขึ้นโดยมีฉากหลังของความขัดแย้งและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง โดยพบความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการระบาดใหญ่ การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อันบั่นทอนความสามารถของภูมิภาคในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเอเปค

อย่างไรก็ดี หลังสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ผ่านการประชุมใหญ่มาตลอดปีรวม 3 ครั้ง ไม่ว่าที่สิงคโปร์, แคนาดา และเวียดนาม จนมาถึงครั้งสุดท้ายที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ระหว่าง 13-16 พ.ย. นี้ ได้มีข้อสรุปของข้อเสนอแนะรวมทั้งสิ้น 69 ข้อ ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 แนวทาง คือ "การส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน" และ "การกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และมีความยืดหยุ่น" โดยในข้อหลัง ประกอบด้วย การก้าวสู่ความยั่งยืน, การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยผ่านการทำให้เป็นดิจิทัล โดยคณะทำงานจะทำการส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์แก่ผู้นำเอเปคในลำดับต่อไป

นายเกรียงไกร กล่าวว่า นอกจากข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบายแล้ว สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ยังรับหน้าที่การเป็นประธานและเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. ภายใต้แนวทาง "Embrace, Engage, Enable" อีกเช่นกัน อันนับเป็นการประชุมที่รวมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำจำนวนมากในการแลกเปลี่ยนมุมมองทางการค้า การลงทุน และการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้ชุมชนเอเชียแปซิฟิคได้ร่วมรับโอกาส ประสานความร่วมมือ และการผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ปีนี้เป็นปีที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย หลังจากการประชุม ABAC สรุปได้ว่ามีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขทั้งหมด 3 เรื่อง โดยเตรียมนำเสนอทั้ง 3 เรื่องแก่ผู้นำ APEC ในวันที่ 18 พ.ย. 65 ดังนี้

1. ปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก ทำให้เกิดความผันผวนเรื่องค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ทั้งเรื่องของพลังงาน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

2. ความมั่นคงด้านอาหาร จากรายงานพบว่า ปลายปีนี้จะมีหลายประเทศที่เป็นประเทศยากจน ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร

3. ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากทุกประเทศต้องประสบภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขทั้งหมด 3 ข้อ ยังได้มีการสรุปเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนใน 5 ประเด็นหลัก 69 ข้อย่อย เพื่อเตรียมนำเสนอในวันที่ 18 พ.ย. 65 ประกอบด้วย

1. Regional Economic Integration เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ โดยมาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคจะต้องลดลง และการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต้องกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด

"เรื่อง FTAAP หลายประเทศต้องเร่งจับมือเพื่อช่วยเหลือการค้าขายกัน เนื่องจากเป็น 60% ของ GDP โลก ส่วนเรื่อง Mini FTA ของไทย ก็อยากให้ภาครัฐใช้มาตรการเสริม" นายเกรียงไกร กล่าว

2. Digital ให้ความสำคัญเรื่องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ให้เท่าเทียมกันทุกเขตเศรษฐกิจ และเรื่องความปลอดภัยทางข้อมูล

3. Sustainability เรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันปัญหาเรื่องโลกร้อน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีความสำคัญมาก ดังนั้น จะต้องดำเนินธุรกิจแบบสร้างสมดุล ระหว่างการทำธุรกิจและการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

"เราแสวงหาการบูรณาการเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการตอบสนองต้านสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางการเจริญเติบโตของเอเปค ผ่านการดำเนินการในทางปฏิบัติ เช่น การผลักดันทางการค้าในบริบทของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกรอบการทำงานใหม่สำหรับการค้าและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน" นายเกรียงไกร กล่าว

4. MSME and Inclusiveness การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการเรื่อง MSME มากที่สุด เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบมาก ช่วงที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ MSME ยังคงมีปัญหา จึงต้องเร่งช่วยเหลือและหามาตรการอื่นๆ มาเสริม เช่น การเข้าถึงระบบดิจิทัล แหล่งเงินทุนให้ทั่วถึง เพื่อให้กลุ่มนี้ฟื้นตัวได้

5. Finance and Economics ต้องเร่งการฟื้นฟูให้เศรษฐกิจและการเงินให้กลับมาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

"ต้องเริ่มใช้เศรษฐกิจดิจิทัล และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพื่อความยืดหยุ่นและการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ MSMEs โดยในปีเรานี้ได้จัดทำรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์, ข้อมูลประจำตัวในรูปแบบดิจิทัล, การแบ่งปันข้อมูล, การอำนวยความสะดวกทางการค้าดิจิทัล, เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่รวมถึงการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม" นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องเน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมของสตรีเพศ เนื่องจากใน 21 เขตเศรษฐกิจยังคงมีความไม่เท่าเทียมในเรื่องของการยอมรับ เช่น บางประเทศ หากผู้หญิงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร (CEO) จะได้ค่าแรง 50-60% แต่ถ้าเป็นผู้ชายได้ค่าแรง 100% อย่างไรก็ดี กรณีของประเทศไทยนั้น มองว่ามีความเท่าเทียมแล้ว

"เมื่อผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมาประชุมกัน จะเน้นให้ผู้นำพิจารณาอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะ 3 ข้อแรก ต้องรีบทำรีบแก้ ส่วนอีก 5 ข้อ และ 69 ข้อย่อย ก็ต้องรีบออกนโยบาย เตรียมความพร้อมในทุกเขตเศรษฐกิจ คาดหวังว่าเสียงของ ABAC จะดังพอที่จะทำให้ผู้นำเอเปคเร่งแก้ไขอย่างน้อยในเรื่องเร่งด่วนก่อน" นายเกรียงไกร กล่าว

ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ APEC Business Advisory Council Executive Director 2022 และ APEC Business Advisory Council Thailand Alternate Member กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนข้อมูลจากเอกชนต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และลงทุนในเอเชียแปซิฟิกไว้ว่า แม้บทบาทหลักของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จะเป็นการส่งมอบข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบาย แต่เพื่อให้กลไกของภาคเอกชนขับเคลื่อนอย่างรอบด้านและมีพลวัต เราจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับในอีกช่องทาง ผ่านรายงานที่จะเป็นการให้คำแนะนำต่อภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังที่เราต่างพบว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากอัตราเงินที่เฟ้อที่สูงขึ้น การปรับตัวหลังโควิดจากหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวสู่ธุรกิจดิจิทัล และผู้บริโภคที่รวดเร็วขึ้น รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ทั้งโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้

"เราเชื่อว่าช่วงเวลานี้เช่นนี้ ภาคธุรกิจกำลังต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ในนำไปเป็นแนวทางในการปรับใช้เป็นการเร่งด่วน" นายมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 มีความเชื่อมั่นว่า คำแนะนำดังกล่าว จะช่วยหลอมรวมเอเปคสู่ความเป็นหนึ่ง ในการขับเคลื่อนชุมชนเอเชียแปซิฟิกให้เกิดพลวัตและมีความกลมกลืน โดยสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรี ส่งเสริมและเร่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค เสริมสร้างความมั่นคงของมวลมนุษย์ และอำนวยความสะดวกในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและยั่งยืน และทำให้นโยบาย กลายแป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและสร้างข้อตกลงที่จับต้องได้อันเป็นประโยชน์ของประชาชนร่วมกัน

ด้านนายศรีดารัน ไนร์ รองประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงการสนับสนุนด้านรายงาน (Thought Leadership) ภายใต้ชื่อ "การรับมือต่อโลกแห่งความเป็นจริงใหม่" (Asia Pacific?s Time: Responding to the new reality) ฉบับนี้ว่า ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนำพาภูมิภาคนี้ไปสู่อนาคต ในฐานะขุมพลังทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ เปลี่ยนความไม่แน่นอนของความเป็นจริงในวันนี้ให้เป็นโอกาส ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องมีความกล้าที่จะปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจ และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ทั้งนี้ เราพบว่า มีปัจจัย 5 ประการ ที่มีความสอดคล้องและส่งเสริมกัน ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตขององค์กรระดับภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังแรงงาน และภูมิทัศน์ของ ESG ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในภูมิภาคมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

การส่งมอบข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนต่อภาคนโยบาย (ABAC?s Recommendations) และจากภาคเอกชนต่อภาคธุรกิจ (Thought Leadership) ที่ดำเนินการผ่านสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 นี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ นั่นเพราะภาคธุรกิจคือกลไกหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่านเวทีเอเปค และเป้าหมายหลักของเอเปค คือการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

อนึ่ง รายงานดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือจาก PwC หรือพันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) ของการประชุม APEC CEO Summit 2022 ในการส่งมอบข้อมูลเชิงลึกระหว่างการประชุม เป็นรายงานที่มีข้อเสนอแนะที่สำคัญแก่ภาคธุรกิจในการไปปรับใช้ เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต


แท็ก เอเปค   ABAC   PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ