นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวเปิดงาน Bloomberg Business Summit at APEC : Interconnection Transformed ว่า ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ ความเป็นห่วงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะกลุ่มสหรัฐ และยุโรปที่มีการใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มข้น เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจในการลดอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่จีน ยังต้องติดตามนโยบาย Zero Covid ในปีหน้า หากทำได้จริง ก็มั่นใจว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนฟื้นคืนกลับมา
นายอาคม กล่าวว่า การมองเศรษฐกิจโลกถดถอย ต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยายตัวลดลงจาก 3.2% เหลือเพียง 2.7% รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียก็จะเติบโตลดลงด้วย แต่ต้องยอมรับว่าเป็นการลดลงในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจปี 65 จะเติบโตได้ 3.4% และปี 66 ที่ 3.8% ขณะที่จีน คาดว่าปีนี้จะเติบ 1.6% ส่วนปีหน้าจะขยายตัวเกือบ 4%
รมว.คลัง กล่าวว่า แม้ทั่วโลกจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ไทยมั่นใจว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียจะสวนทาง และเป็นกลุ่มประเทศที่มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ (Power House) อีกกลุ่มหนึ่ง จากที่เคยมีประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และจีน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังมีศักยภาพในการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์
"เศรษฐกิจเอเชียแม้จะขยายตัวลดลง แต่ก็เป็นช่วงขาขึ้น ในส่วนของไทยเอง มีความชัดเจนว่าปี 66 การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ค่าเงินบาทก็ดี ท่องเที่ยวล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 8.4 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีจะถึง 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ก่อนช่วงโควิด-19 แล้ว ถ้าได้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เศรษฐกิจก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ" นายอาคม กล่าว
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ยังมั่นใจอีกว่านักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากที่ขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เข้าลงทุนในภาพรวมและพื้นที่อีอีซี ที่แม้ว่าจะมีการชะลอตัวไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในปีหน้า
"ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการดึงดูดนักลงทุน แม้ว่าค่าแรงของเราจะไม่ถูก แต่ก็มีความแตกต่าง และอยากให้มองเรื่องฝีมือแรงงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นใน 12 กลุ่มเป้าหมาย ส่วนเรื่องเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วงนี้นั้น จะเป็นการนำเงินมาพักไว้ที่ไทยหรือไม่ ก็ต้องดูนักลงทุน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าช่วงนี้เป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวคริสต์มาส ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีเงินทุนส่วนหนึ่งเข้ามาพักบ้าง แต่อยากให้ดูเรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า เพราะเป็นเม็ดเงินลงทุนระยะยาว" นายอาคม กล่าว
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น นายอาคม กล่าวว่า โดยรวมยังถือว่าอ่อนค่าเมื่อเทียบกับปี 64 ส่วนอัตราที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไรนั้น คงตอบไม่ได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบค่าเงินบาทในปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา ยังถือว่าอยู่ในทิศทางที่สามารถสนับสนุนการส่งออกของไทยให้อยู่ในระดับที่ได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง