สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น กทท.จะต้องดำเนินการการส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 4 งาน
งานที่ 1 การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่นวงเงิน 21,320 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ปจำกัด (ประเทศจีน) เป็นผู้รับจ้าง
งานที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งอยู่ระหว่างประกวดราคา
งานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 600 ล้านบาท
งานที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงินประมาณ 2,200 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ภายในปี 2565 นี้ ตามแผนงานที่วางไว้
สำหรับ TOR การประกวดราคา งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ราคากลาง 7,289.43 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขงานก่อสร้างประกอบด้วย งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเรือชายฝั่งและงานท่าเรือบริการ
โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่การท่าเรือฯ เชื่อถือได้ โดยต้องมีผลงานก่อสร้างท่าเทียบเรือทางทะเลในประเทศไทย ไม่รวมเครื่องมือยกขน สัญญาเดียวมูลค่าก่อสร้างไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และเป็นผลงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลา 10 ปี
ตามแผนงานภายใน 2 ปี กทท. จะต้องก่อสร้างและส่งพื้นที่ถมทะเลให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK), บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทาน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เข้าดำเนินการเพื่อเปิดให้บริการในปี 2568