นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า การที่เฟดจัดหาเงินทุนมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับเจพีมอร์แกนเพื่อนำไปซื้อกิจการแบร์ สเติร์นส์นั้น มีเป้าหมายที่จะปกป้องแบร์ สเติร์นส์ไม่ให้ล้มละลาย และยับยั้งภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน
"การที่เฟดยื่นมือเข้าช่วยเหลือแบร์ สเติร์นส์เพราะเกรงว่า ปัญหาดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันให้กับระบบการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐ และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาของแบร์ สเติร์นส์ขยายวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้" เบอร์นันเก้กล่าว
"ถ้าเราปล่อยให้แบร์ สเติร์นส์ล้มละลาย ก็จะสร้างความตื่นตระหนกในตลาดชนิดที่ยากเกินกว่าจะควบคุม และจะทำให้เกิดการเทขายอย่างหนัก อีกทั้งจะสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อระบบการเงินและตลาดสินเชื่อ" เขากล่าว
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา แบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ยอมรับว่าบริษัทได้รับเงินกู้ฉุกเฉินจาก เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค โดยมีเฟดสาขานิวยอร์กเป็นผู้จัดหาเงินกู้ให้ เนื่องจากแบร์ สเติร์นส์ ซึ่งมีพนักงานอยู่ประมาณ 14,000 คนทั่วโลก ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องนับตั้งแต่เฮดจ์ฟันด์ 2 แห่งของบริษัทขาดทุนเป็นวงเงินหลายพันล้านดอลลาร์ หลังจากเข้าไปลงทุนในตลาดซับไพรม์
การที่เฟดอนุมัติเงินทุนให้กับเจพีมอร์แกนทำให้คณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอด และต้องการให้เฟดชี้แจงเหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้ เนื่องจากมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนมากตั้งคำถามว่าเฟดจะยื่นมืออุ้มสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาอีกหรือไม่ในอนาคต
นอกเหนือจากนายเบอร์นันเก้แล้ว นายโรเบิร์ต สตีล รมช.คลังสหรัฐ นายทิโมธี กีทเนอร์ ผู้ว่าการเฟดสาขานิวยอร์ก และนายคริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ ได้เข้าชี้แจงต่อวุฒิสภาในครั้งนี้ด้วย
สำหรับวิกฤตการณ์ของแบร์ สเติร์นส์ตั้งแต่ต้นปี 2551 ก่อนที่จะขายกิจการให้เจพีมอร์แกนนั้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวลือแพร่สะพัดในตลาดวอลล์สตรีทว่า แบร์ สเติร์นส์ อาจมีเงินสดไม่มากพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่แบร์ สเติร์นส์ออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว โดยระบุว่า "ข่าวเรื่องปัญหาสภาพคล่องในแบร์ สเติร์นส์ ไม่มีมูลความจริง"
ต่อมาวันที่ 12 มี.ค. นายอลัน ชวาร์ทซ์ ซีอีโอของแบร์ สเติร์นส์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า แบร์ สเติร์นส์มีสภาพคล่องเพียงพอ และมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถทำกำไรได้ในไตรมาสแรกของปีนี้
แต่จากนั้น วันที่ 14 มี.ค. แบร์ สเติร์นส์ ออกมายอมรับว่า บริษัทขอรับวงเงินกู้ฉุกเฉินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก และเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ในที่สุดเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มี.ค. แบร์ สเติร์นส์ ตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดให้เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งข่าวดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลก
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--