นายกฯ เปิดงาน APEC CEO Summit ผลักดันความร่วมมือเอกชนสู่โมเดลศก. BCG-ดิจิทัล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 17, 2022 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ เปิดงาน APEC CEO Summit ผลักดันความร่วมมือเอกชนสู่โมเดลศก. BCG-ดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน APEC CEO Summit 2022 โดยระบุว่างาน APEC CEO Summit เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นการกลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้ากัน ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้แก่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งการที่ทุกคนมาร่วมประชุมสะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคของเรากลับมาเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่อีกครั้งหลังจากที่ชะงักงันมาหลายปี การกลับมาครั้งนี้เป็นโอกาสให้เราฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรี ชี้ว่า ขณะที่โลกกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งในยุคหลังโควิด ไทยกำลังขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคในประเด็นที่ท้าทายและมีวิสัยทัศน์ ได้แก่ ประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน และการเดินทางวาระความยั่งยืนของโลก โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้สะท้อนอยู่ในหัวข้อหลักของเอเปคปีนี้ คือ OPEN CONNECT BALANCE

ภายใต้หัวข้อหลักนี้ ประเด็นสำคัญของเอเปคถูกนำทางโดยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ และประเทศไทยได้นำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูจากผลกระพบของโควิด-19 ตลอดจนเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโตในระยะยาวที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม เศรษฐกิจสานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เศรษฐกิจชีวภาพ เกี่ยวข้องกับการผลิตที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่มาจากทรัพยากรและวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งให้เกิดระบบการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการแบบฟื้นสร้าง โดยมีการวางแผนตั้งแต่การออกแบบระบบที่ให้ความสำคัญกับการลดขยะและมลพิษ ในขณะเดียวกัน ก็พยายามใช้วัตถุดิบซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่เศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบและโมเดลเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างผลกำไรควบคู่ไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

"แนวทางเศรษฐกิจทั้ง 3 ข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG แตกต่างออกไป คือ การตระหนักว่าความท้าทายหลากหลายที่เราประสบอยู่ เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกัน ดังนั้น การแก้ปัญหาของเราจึงต้องไม่เป็นไปแบบแยกส่วน ด้วยเหตุผลนี้เศรษฐกิจ BCG จึงให้ความสำคัญและผลักดันการใช้ 3 แนวทางเศรษฐกิจนี้ร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบทวีคูณ ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ได้อย่างเสียอย่าง บนหนทางสู่การพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการส่งเสริมความยั่งยืนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกวันนี้ เราเผชิญหน้ากับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน เราได้เห็นพายุและภัยแล้งเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิโลก และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ลง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเรา เราจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าการเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวของภูมิภาคในการะผลักดันการเติบโตที่สมดุลและครอบคลุม

โดยไทยได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปคในปีนี้ และมุ่งมั่นที่จะนำเศรษฐกิจ BCG มาชับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไรได้ ดังนั้นเชื่ออย่างยิ่งว่าทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาวิถีการคำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ความร่วมมือที่เข้มแข็งและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และครอบคลุม ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนการกระทำของเราในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราสามารถร่วมมือกันดำเนินธุรกิจมุ่งไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ล้ำสมัยในการผลิตของภาคเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ที่ภาคเอกชน ทั่วโลกให้ความสำคัญมากในขณะนี้ โดยกำลังสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการลดของเสียและการปล่อยก๊าซมลพิษ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญให้ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินที่ยั่งยืน ที่อิงกลไกตลาด ตราสารทางการเงิน และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ สร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เอื้อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถรรลุเป้าหมาย สำหรับเส้นทางไปสู่ความยั่งยืนของไทย กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ผลักดันและให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และ ยั่งยืน

ทั้งนี้ เอเปคผลักดันให้มีการปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น เพื่อสร้างแรงจูงใจทางการเงินสำหรับการลงทุนที่มีคุณภาพ และขจัดอุปสรรคของการทำธุรกิจ นอกจากนี้ต้องดูแล MSMEs ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 98% ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาค และคิดเป็น 40-60% ของ GDP ในเขตเศรษฐกิจเอเปคส่วนใหญ่ จึงมุ่งที่จะร่วมมือกันเพื่อทำให้ MSMEs มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ขณะที่การจัดทำนโยบายต่าง ๆ หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนและการปกป้องโลกเพื่อคนรุ่นหลัง ทั้งนี้ เอเปคจึงเน้นให้เรื่องการมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพจะสร้างโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้ไทยได้วางรากฐานสำหรับภูมิภาคในการปฏิรูปทางโครงสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขับเคลื่อนงานที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าดิจิทัลและความเชื่อมโยง เร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค และจะร่วมมือกับภาคเอกชนต่อไปในการลดช่องว่างด้านดิจิทัล

โดยปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัล คิดเป็นสัดส่วน 14%ของ GDP ของไทย ไทยมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดลำดับต้นของโลก โดยมีอินเทอร์เน็ตบ้านเร็ว ติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก ตามการจัดอันดับความเร็วอินเทอร์เน็ตโลก ด้วยปัจจัยนี้ ไทยมองว่าภาคธุรกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนถึง 30%ของ GDP ของไทยภายในปี 2573 และไทยส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล ผ่านมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยเน้นการพัฒนาชอฟท์แวร์ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น พร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน

"ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ไทยจึงจะเสนอให้ผู้นำเอเปค รับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งเอกสารฉบับนี้ จะกำหนดทิศทางของเอเปคไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน วางเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดัน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน การเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ภูมิภาคของเราก้าวไปข้างหน้า และเติบโตไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในขณะที่รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการ เพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดทั้งหมดขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น ยืดหยุ่น และสร้างสรรค์ของภาคเอกชนที่จะขับเคลื่อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในเอเปคให้ก้าวหน้าต่อไป

ทั้งนี้ การประชุม APEC CEO Summit เป็นกิจกรรมของภาคเอกชนที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และถือเป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประจำปีที่สำคัญที่สุด โดยปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Embrace, Engage, Enable" มีการเชิญผู้นำ/ผู้แทนเขตเศรษฐกิจ ผู้นำภาคธุรกิจ และผู้นำทางความคิดเข้าร่วมงาน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นสำคัญ เช่น อนาคตของโลก ความยั่งยืน การเติบโตที่ครอบคลุม การสาธารณสุขและสวัสดิการสุขภาพในยุคหลังโควิด-19 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลฃ

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้นักธุรกิจในภูมิภาคได้สร้างเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งในปีนี้ มีผู้นำและผู้แทนที่เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาและเสวนาในการประชุมฯ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีทั้งหมด 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีเวียดนาม ประธานาธิบดีชิลี รองประธานาธิบดีเปรู และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มีทั้งหมด 2 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ