บัวแก้ว-พาณิชย์ ชี้เวที APEC หนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี-ลดอุปสรรคทางการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2022 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลายประเทศหวังให้เวทีเอเปค เป็นร่มใบใหญ่เปิดทางให้สมาชิกแต่ละประเทศเจรจาการค้าร่วมกัน ไม่ใช่การเจรจาทางเอกสารแล้วปิดแฟ้มไป นับเป็นกรอบใหญ่ทำให้เกิดการเจรจาอีกหลายเวทีจำนวนมาก เกิดประโยชน์การการฟื้นเศรษฐกิจเอเปคด้วยกัน

โดยในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ หลายประเทศได้นัดหารือแบบทวิภาคีหลายเวที ตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ เช่น เกาหลี-ญี่ปุ่น, เกาหลี-จีน และอีกหลายประเทศนัดหารือกันเอง ทำให้ทะลายกำแพงภาษี อนุสัญญาภาษีซ้อน อุปสรรคทางการค้าคลี่คลายมากขึ้น เพื่อส่งออกสินค้าให้สะดวกขึ้น อาทิ นิวซีแลนด์ มีช่องโหว่กำหนดภาษีสินค้าปกป้องสุขภาพยังสูงมาก เช่น สบู่ เอเปค จึงได้เจรจาขอให้ลดภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาการลดต้นทุนนำเข้าส่งออกปุ๋ยกับรัสเซีย แม้จะมีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ความสัมพันธ์ทางการค้ายังมีความสำคัญ อีกทั้งยังมีการนัดหารือการค้า การลงทุนกับหลายประเทศของกลุ่มเอเปค เพื่อทำให้การขนส่งสินค้า โลจิสติกส์มีความสะดวกมากขึ้น เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านบริการ การท่องเที่ยว เมื่อเอเปคเปิดกว้างร่วมกัน การท่องเที่ยวจะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปค หลายประเทศจึงใช้เวทีนี้หารือแบบทวิภาคี เปิดกว้างการเดินผ่านการตรวจลงตราวีซ่า และสิทธิประโยชน์อื่นๆ

ในส่วนของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เสนอตั้งกองทุนเพื่อให้หลายหน่วยงานในเอเปคนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการสตาร์อัพ เอสเอ็มอี ให้มีทุนดอกเบี้ยต่ำ การจับคู่ธุรกิจของภาคเอกชน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ สอดรับกับเศรษฐกิจ BCG

โดยถัดจากนี้ไป ทุกหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของกลุ่มสมาชิกเอเปค จะเดินหน้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนให้ได้ตามแผน ทั้งการลดภาษีนำเข้า ส่งออก และผ่อนปรนเงื่อนไข อุปสรรคทางการค้า

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนงานในอีก 5 ปีข้างหน้า (66-70) ตั้งเป้าผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้า ให้ครอบคลุม 80% ของสัดส่วนการค้าไทยกับโลก ปัจจุบันการทำ FTA กับคู่ค้า มีสัดส่วน 64% เมื่อเทียบกับอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศทั่วโลก สูงถึง 96% เวียดนาม 73% อินโดนีเซีย 67% และฟิลิปปินส์ 71% ซึ่งทางรัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันการเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทยได้ขายสินค้าไปต่างประเทศมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ