คลัง-ธปท.-ก.ล.ต. หนุนภาคธุรกิจเดินหน้าศก.สีเขียวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2022 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainable Thailand 2022 : Moving from Ambition to Action towards a Greener Financial System ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยังยืนมาค่อนข้างมาก เรียกได้ว่ามีความก้าวหน้ากว่าหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อน สะท้อนจากในช่วง 2 ปีกว่าที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน มีการเชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

"ต้องแยกก่อนว่า Sustainable Development Goals : SDG และ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบ และการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดี ซึ่งประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้มามาก และมีความก้าวหน้า แต่เรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวกับองค์กรโดยตรง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กร คือ แนวคิดเรื่อง ESG (Environment, Social และ Governance) ซึ่งองค์กรคือผู้ที่จะเข้าไปลงทุน หรือเป็นเจ้าของโครงการ ตรงนี้คือจุดที่ต้องการเงินลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือการระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" นายอาคม กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bond) ตั้งแต่ปี 2563 วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนดังกล่าวราว 20% ใช้เพื่อลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนอีก 80% ใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 ถือเป็นการกู้เงินเข้ามาใช้ในโครงการเพื่อสังคม และหลังจากนั้นก็มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนออกมาเรื่อย ๆ โดยมียอดคงค้างราว 2 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่ง ก็มีการระดมทุนเพื่อความยั่งยืนเช่นกัน อาทิ ธนาคารออมสิน ออก Social Bond และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออก Green Bond เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่เชื่อว่าจะมีการจัดพอร์ตสำหรับธุรกิจสีเขียวโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีนโยบายภาษีเพื่อจูงใจให้มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ เช่น นโยบายภาษีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการใช้น้ำมันจากฟอสซิล ถือเป็นบทบาทสำคัญของกระทรวงการคลัง ในการใช้เครื่องมือทางภาษีเข้ามาช่วยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยังยืน

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความท้าทายของประเทศเศรษฐกิจใหม่ และประเทศไทย คือจังหวะเวลา และความเร็วในการสร้างสมดุลในการเดินไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน และป้องกันปัญหาเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ ดังนั้นการดำเนินการจะต้องไม่ช้าจนสร้างผลกระทบให้กับหลายส่วน และต้องไม่เร็วเกินไปจนระบบเศรษฐกิจปรับตัวไม่ทัน

ทั้งนี้ ธปท. มุ่งหวังในการปิดช่องว่างต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจ โดยมีเป้าหมายหรือผลลัพธ์หลัก 3 ด้าน คือ

1. การสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ หรือกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคการเงินดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเริ่มต้นดำเนินการได้ในไตรมาสแรกปี 2566 ประเดิมกลุ่มพลังงานและขนส่ง เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 70-80% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธุรกิจกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาฐานข้อมูลกลางเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบได้ นำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจให้แก่นักลงทุนที่จะนำมาประเมินความเสี่ยงของธุรกิจนั้น ๆ

2. ต้องมีแหล่งเงินทุนของภาคการเงินที่จะรองรับการปรับตัวของภาคธุรกิจให้เป็นกรีน โดยสถาบันการเงินต้องออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบสนอง หลากหลายมากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสม ทั้งดอกเบี้ย ระยะเวลา ให้สอดรับกับการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจ โดยในช่วงต้นปี 2566 ธปท. จะออกแนวนโยบายเพื่อให้สถาบันการเงินได้คำนึงถึงมิติเหล่านี้ ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ

3. การกระตุกและกระตุ้นให้เกิดการจูงใจให้ภาคเอกชนเกิดการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น จากปัจจุบันมีธุรกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มทำแล้ว แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องเร่งปรับตัวมากขึ้น โดย ธปท. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูเดิม และ ธปท.กำลังศึกษาแนวทางในระยะต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งยังต้องพัฒนาทักษะความรู้บุคลากรในภาคการเงินให้เพิ่มขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ