ผู้นำเอเปค เห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือพัฒนาศก.-สังคม ลดช่องว่าง-ขจัดเหลื่อมล้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 18, 2022 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษในช่วงอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ "การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤติเงินเฟ้อ"

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจากนี้จนถึงปี 2566 จะชะลอตัว ระดับเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาในทิศทางและระดับที่ต่างกัน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นว่า การสร้างการเติบโตหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และแขกพิเศษ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงแนวทางเพิ่มพูนความร่วมมือ เพื่อลดช่องว่างการพัฒนา และความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างเขตเศรษฐกิจ

โดยภายหลังการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และแขกพิเศษ นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปการหารือ โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ เห็นพ้องกันว่าท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ ยังมีปัจจัยบวกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการค้าการลงทุนที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่คนทุกกลุ่ม รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นความจำเป็นในการพัฒนาเครือข่ายรองรับทางสังคม การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของ MSMEs ส่งเสริมบทบาทของสตรี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การหารือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างกัน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ