นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกันผลักดันในด้าน Digital trade เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าร่วมกัน
3. ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในการค้าและการลงทุน ซึ่งจะมีการทำข้อตกลงต่างๆ ในการหารือครั้งต่อไป หลังจากที่ไม่ได้มีการหารือร่วมกันในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ คือ ในเดือนเม.ย.66 ที่สหรัฐฯ จะพิจารณาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชี WL (บัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง : Watch list) เกี่ยวกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 19 ประเทศที่ถูกขึ้น WL ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นไทยจึงได้ขอให้สหรัฐฯพิจารณาปลด WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย หลังจากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เดินหน้าทำงานตามกฎระเบียบต่างๆ และมีความคืบหน้าไปมากแล้ว
ซึ่งทางผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้รับไปพิจารณา และคาดว่าจะสามารถปลดไทยออกจากบัญชี WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้ในช่วงเดือนเม.ย. 66 ซึ่งจะส่งผลบวกต่อสถานะของไทยด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่สามารถผลักดันการค้า และเศรษฐกิจในอนาคตได้มากขึ้น
"ขณะนี้ประเทศที่ยังถูกขึ้นบัญชี WL มี 19 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในนั้น หากสหรัฐฯ พิจารณาปลดออกจากบัญชีนี้ จะทำให้สถานะประเทศไทยด้านการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาดูดีขึ้น และมีภาพลักษณ์ทางการค้า ทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับหลายประเทศในโลกในอนาคตต่อไป" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปีก่อนค่อนข้างมาก โดยการค้าของไทยและสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เติบโต 21.5% โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ อยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงทั้งปี 64 ที่มูลค่าการค้าทั้งปีอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสหรัฐฯ
สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, ผลิตภัณฑ์ยางพารา, โทรศัพท์และอุปกรณ์โทรศัพท์, อัญมณี และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์, เครื่องจักรกล, เครื่องบินและอุปกรณ์การบิน และน้ำมันดิบ