ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง.คงดอกเบี้ย หลังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 4, 2008 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 9 เม.ย.นี้จะให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ตามเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจนในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการปรับตัวในเชิงบวกมากขึ้นในไตรมาส 1/51 
"อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ อาจไม่มีประสิทธิผลในการช่วยบรรเทาปัญหาสินค้าราคาแพง และอาจนำมาสู่ปัญหาฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงกระทบต่อการออมในประเทศ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยไตรมาส 1/51 อยู่ที่ 5% เป็นตัวสะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมีทิศทางการปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้อย่างชัดเจน และอาจจะยังมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากจนกระทั่งทำให้ กนง.จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปในเชิงที่เข้มงวดมากขึ้นในเวลาอันใกล้นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 51 จะอยู่ที่ 4.8% ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะยังมีน้ำหนักที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในการประชุมวันที่ 9 เม.ย.และในรอบถัดไป
"การดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายผ่านมาตรการต่างๆ และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล คาดว่าจะมีส่วนช่วยรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทดแทนกับภาคการส่งออกที่คาดว่าอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้นท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่ดีในปีนี้ จะทำให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงอีกหรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีความจำเป็นน้อยลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ปัจจัยเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลก ตลอดจนผลักดันให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนั้น ผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวต่อตลาดการเงินไทยจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนมากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทยังมีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัวแม้ว่าทางการได้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไปแล้ว
ขณะที่เป็นที่คาดหวังว่าเมื่อการใช้จ่ายภายในประเทศสามารถฟื้นตัวขึ้น แรงผลักดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทก็น่าที่จะบรรเทาเบาบางลงตามความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศหรือการนำเข้าสินค้าเพื่อขยายการลงทุน ตลอดจนแนวโน้มที่ผ่อนคลายมากขึ้นสำหรับการอนุญาตให้นักลงทุนสามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศของทางการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ