นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลกระทบจากการประชุมเอเปค 2022 ต่อเศรษฐกิจสังคมไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่า การเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยในที่ประชุมเอเปคนั้นนับว่าสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายพื้นฐานในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง วิกฤติพลังงาน รวมทั้งปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม
การผลักดันเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไม่ควรหยุดอยู่แค่เวทีเอเปค แต่ต้องขึ้นไปสู่เวทีระดับโลก เช่น องค์การการค้าโลก องค์การสหประชาชาติ World Economic Forum โดยการผลักดันอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และเป็นรูปธรรม ไทยจึงอยู่ในสถานะของผู้กำหนดทิศทางและกฎการค้าและการลงทุนของภูมิภาคและของโลกได้ ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม แต่เราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม (Industry Transformation) และเตรียมความพร้อมทางด้านคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง การลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีของไทยอาจต้องอาศัยบรรษัทข้ามชาติเป้าหมาย (Targeted MNCs) เข้ามาจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับโลกในไทยและพัฒนากลไกในการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศขึ้นมาด้วยตัวเอง
ส่วนความร่วมมือทางด้านการคลัง ความร่วมมือทางด้านการเกษตรและป่าไม้ ความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขนั้นมีความคืบหน้าตามแนวคิดการเชื่อมโยง เปิดกว้าง และสมดุลมากกว่าเดิม ส่วนความร่วมมือทางด้าน SMEs และด้านกิจการสตรี ยังไม่เห็นความก้าวหน้าของความร่วมมือเพิ่มเติมมากนัก ขณะเดียวกันเวทีเอเปคควรเปิดกว้างให้ประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและมีกลไกความร่วมมือภายใต้เวทีเอเปคด้วย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ระยะที่สี่ ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ยังไม่มีความคืบหน้าสำคัญใดๆ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนและมีความคืบหน้ามากขึ้นในประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในสหรัฐฯปีหน้า นอกจากนี้การเกิดขึ้นของเขตการค้าเอเชีย-แปซิฟิกจะมีความสำคัญมาก เพราะ 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคมีขนาดเศรษฐกิจ 52 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 61-62% ของจีดีพีโลก หรือ 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าโดยรวมของสมาชิกประมาณ 50% ของปริมาณการค้าโลก
หาก FTAAP เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีข้อตกลงที่ชัดเจน การเกิดขึ้นของ FTAAP จะทำให้ข้อตกลงเขตเศรษฐกิจอาเซียนภายใต้ AEC หรือ บทบาทของ CPTPP (Comprehensive and Progressive for Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) ลดความสำคัญลง การเกิดขึ้นของ FTAAP จะทำให้สินค้าของไทยเปิดและขยายตลาดในละตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตลาดไปยังประเทศที่ไทยยังไม่ได้มี FTA ทำให้ปริมาณการค้าของไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5% หากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการดำเนินการ FTAAP จะทำให้เป็นข้อตกลงเปิดเสรีการค้าที่คลอบคลุมมากกว่าการค้าและการลงทุน จะขยายไปเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในข้อตกลง FTA ของ TPP อาจจะเกิดผลดีระยะยาวจากการยกระดับมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ หากการเจรจามีการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม โดยต้องระมัดระวังผลกระทบทำให้ต้นทุนภาคเกษตรกรรมและภาคสาธารณสุขเพิ่มขึ้น กระทบต่อเกษตรกรและประชาชนผู้ใช้ยารักษาโรคได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การจัดประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างต่อเนื่องในอาเซียนช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในกัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ตามลำดับ ทำให้ภูมิภาคอาเซียนโดดเด่นบทเวทีโลก เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้การพบปะและหารือกันของผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำจีน ทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองและการค้าลดลงอย่างมากและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลดีต่อการลงทุน การค้าและเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีแนวโน้มขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปีหน้า คาดการณ์ว่า การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มสมาชิกเอเปคมีมูลค่าราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2565 คิดเป็นมากกว่า 72% ของปริมาณการค้าโลกของไทย เอเปคนั้นสนับสนุนการสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจภูมิภาคแบบเปิด (Open Regional Economic Integration) คือ สามารถเปิดกว้างให้สิทธิประโยชน์ต่อประเทศนอกกลุ่มเอเปคได้ด้วย การเป็นภูมิภาคแบบเปิดนั้นจะช่วยขยายห่วงโซ่อุปทานให้กว้างขวางมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆในภูมิภาคเอเปค รวมทั้ง EEC น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงโอกาสอาจเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในบางประเทศอาจควบแน่นมากขึ้นกว่าเดิม การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองให้เป็นธรรมจึงควรเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในทุกเวทีทุกข้อตกลง
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แม้การประชุมเอเปคจะแสดงความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติ และทำให้ไทยเพิ่มบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ เกิดประโยชน์ต่อการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม แต่การสลายการชุมนุมต่อต้านเอเปค 2022 ทำลายภาพพจน์ไทยในสายตาโลก การยื่นข้อเรียกร้องขององค์กรประชาสังคมมักเกิดขึ้นในหลายเวทีการประชุมผู้นำระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ การเปิดโอกาสให้ดำเนินการได้จะทำให้เวทีการประชุมพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆ หรือการมีความร่วมมือทางด้านต่างๆ บูรณาการความต้องการของประชาชนได้มากขึ้นหลากหลายขึ้น กรณีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อประชาชนผู้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้นำเอเปค รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระและเป็นกลางกรณีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ และรัฐบาลต้องให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพและแสดงออกทางการเมือง และปฏิบัติตามกฎหมาย ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมุ่งแก้ปัญหาความเห็นต่างด้วยกระบวนการประชาธิปไตยและการหารือกันบนหลักของเหตุผลและการมีส่วนร่วม